ถ้าเรื่องนี้เป็น “ปม” ที่พ่อแม่เอาเป็นข้ออ้าง ไม่สอนลูกเป็นเด็กสองภาษาทั้งที่ใจอยากจะสอนให้ลูกเป็นเด็กสองภาษา ผมรู้สึกเสียดายโอกาสแทน…สำหรับเรื่องนี้ผมมีข้อแนะนำอยู่สองข้อครับ
ข้อแรก…ฝึกพื้นฐานการออกเสียงให้ดี
คุณรู้หรือเปล่าว่าคนไทยมีความสามารถในการเลียนแบบเสียงภาษาต่างๆ…ในภาษาไทยของเรา เรารับรู้ทั้งการออกเสียงสั้น เสียงยาว เสียงควบกล้ำ การลงตัวสะกดหลายๆตัว คนไทยหูไวและเลียนเสียงเก่ง แต่เราออกเสียงภาษาอังกฤษเพี้ยน ไม่ใช่เราเลียนเสียงไม่ได้ มันเป็นเพราะเราเข้าใจผิดในเรื่องภาษาอังกฤษอยู่มากมาย
เสียงในภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันมีทั้งหมด 40 หน่วยเสียง ซึ่งไม่ได้เยอะมากมายเกินกว่าจะเรียนรู้และเลียนแบบ ผมอยากให้พ่อแม่ใช้เวลาทำความเข้าใจระบบการออกเสียงของภาษาอังกฤษ จากนั้นก็ฝึกให้ได้ใกล้เคียง ให้เสียงเคลียร์เพียงพอ และดูแลการออกเสียงของตัวเองให้ได้ โดยสามารถใช้ดิกชันนารีภาษาอังกฤษ-อังกฤษเป็น…อ่านตัวกำกับการออกเสียงสากลที่เรียกว่า “โฟเนติกส์” ออก เพียงเท่านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการออกเสียงเป็นต้นแบบให้ลูกครับ (สำหรับท่านที่สนใจศึกษาเรื่องการออกเสียงนี้ให้ลึกขึ้น ผมเปิดเวิร์กช็อปโฟนิกส์และการออกเสียงอยู่เป็นประจำ ติดตามข้อมูลการจัดเวิร์กช็อปนี้ได้ที่เว็บ 2pasa.com ครับ)
ข้อสอง…อย่ารอคอยความสมบูรณ์แบบ
ถ้าคุณได้ศึกษาแนวคิดเด็กสองภาษาไปพอสมควร คุณจะรู้ว่าผมเน้นการฝึกให้เด็กพูดจากความรู้สึก แล้วการพูดจากความรู้สึกให้ได้นั้นจะต้องอาศัยความถี่ พร้อมกับให้เด็กตีความด้วยประสามสัมผัสทั้งห้า พ่อแม่ที่สอนตามแนวคิดเด็กสองภาษาไปสักพักก็จะรู้ดีว่า..กว่าเด็กจะจำคำศัพท์สักคำจากการตีความแล้วให้เด็กพูดออกมาจากความรู้สึกได้นั้น พ่อแม่จะต้องพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่ามากแค่ไหน
เมื่อคุณเข้าใจถึงจุดนี้แล้ว ย้อนกลับมาดูความสมบูรณ์แบบในจินตนาการของเราบ้าง ความสมบูรณ์แบบในการสอนภาษาอังกฤษของเราก็คือ “ฝรั่งเจ้าของภาษาเป็นคนสอน” ผมอยากจะถามว่าจะมีครูฝรั่งคนไหนบ้างที่สามารถดูแลการพูดของเด็กแต่ละคน ขัดเกลาการเลียนแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้เด็กพูดได้ชัดและพูดจากความรู้สึกออกมาได้ ครูฝรั่งในโรงเรียนทั่วไป ต้องดูเด็กยี่สิบสามสิบคน สัปดาห์หนึ่งสี่คาบ คาบละห้าสิบนาที…ลำพังแค่เนื้อหาในบทเรียนก็สอนกันไม่ทันแล้ว อย่าว่าจะมาดูแลเด็กรายตัวและขัดเกลาการเลียนแบบได้เลย
ดังนั้นผมมองไม่ออกเลยว่าใครจะสามารถดูแลเด็กรายตัว มีความถี่มากเพียงพอ และฝึกให้เด็กพูดจากความรู้สึกได้นอกจาก “พ่อแม่”
…แน่นอนที่สุดมัน “ไม่สมบูรณ์แบบ” พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่เก่งอังกฤษไปจนไม่เป็นภาษาอังกฤษเลย แต่ผมเชื่อเรื่อง “พลังความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก” ที่จะพยายามมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูก ผมเชื่อพลังของการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองของพ่อแม่
นั่นแหละคือประเด็น ดังนั้นไม่ต้องรอความสมบูรณ์แบบ ไม่ต้องเอาปมไม่เก่งภาษาอังกฤษมาเป็นข้ออ้าง ให้เริ่มทำเลย ศึกษาแนวคิดให้ลึกซึ้ง ค่อยๆพัฒนาตัวเองและเรียนรู้พร้อมลูก