Posted by คุณแม่น้องอิ่ม & เอม on April 18, 2012 at 3:33pm
ห่างหายจากการเขียนบล็อคไปนานเลยค่ะ เพราะมัวแต่สาละวนกับการเลี้ยงลูกและเรียนภาษาที่สามด้วยตัวเองอยู่หลายเดือน ได้แวะเข้ามาเยี่ยมหมู่บ้านฯ อีกทีมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเยอะเลย เป็นเรื่องน่ายินดีจริงๆ กับคุณพ่อคุณแม่ที่ให้ความสำคัญกับเจ้าตัวน้อย
ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า ภูมิใจมาก ที่ได้เป็นสมาชิกเป็นอีกหนึ่งครอบครัวใน หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ เหมี่ยวใช้เวลาบ่มเพาะการสอนภาษาให้ลูกมา 2 ปีแล้ว เดือนนี้ครบ 2 ปีเต็มพอดี จากที่ได้เป็นสมาชิกและเดินตามแนวความคิดเด็กสองภาษามาอย่างต่อเนื่อง มีบ้างที่เจออุปสรรค ปัญหา แต่ไม่เคยท้อเลยซักครั้งเดียว เชื่อมาตลอดว่า ‘เราต้องทำได้’ การพูดภาษาที่สองนอกบ้านอย่างไม่เคอะเขินของเจ้าลูกชาย ทำให้มีหลายคนเข้ามาทักค่ะ ‘น้องเค้าพูดภาษาอังกฤษกับแม่เหรอ น้องเรียนอินเตอร์ใช่มั้ย พ่อเค้าเป็นต่างชาติรึเปล่า’ 555 แอบปลื้มใจค่ะ ด้วยเหตุนี้ทำให้มีเพื่อน (นอกหมู่บ้านฯ) เพิ่มขึ้นอีก บางคนที่รู้จักหมู่บ้านเด็กสองภาษาฯ ก็ถามว่าเป็นหนึ่งในสมาชิกของหมู่บ้านนี้รึเปล่า รีบตอบทันทีว่า ‘ใช่ค่ะ’ บางคนก็ไม่รู้จักหมู่บ้านนี้ เลยแนะนำให้เข้ามาดูในเวปฯ พอได้ดูคลิปน้องๆ ตัวน้อยพูดภาษาที่สองกันแล้ว ถึงกับอึ้งไปเลย แล้วถามว่า ‘เค้าทำกันได้ไงเนี่ย’ (เหมือนตัวเองที่เข้ามาตอนแรก นอกจากฟังไม่ทันแล้ว ยังแปลไม่ออกอีกต่างหาก) คำถามที่เจอบ่อยที่สุดคือ หากเริ่มสอนแล้วจะเห็นผลตอนไหน? (อันนี้ตอบยากมากเลย) บางครอบครัวอาจจะเริ่มตอนที่น้องยังเล็กๆ ไม่ถึงขวบ หรือบางครอบครัวเริ่มตอนที่น้อง 3-4 ขวบแล้ว เลยอยากแชร์ประสบการณ์ตัวเองผ่านบล็อค เผื่อว่ามีบางครอบครัวที่กำลังเริ่มหรือเริ่มมาสักพักแต่ยังไม่เห็นผล หรือกำลังจะถอดใจ เพราะคิดว่า ฉันทำไม่สำเร็จแน่เลย (อาจจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม) เหมี่ยวเริ่มพูดกับลูกชายคนโตตอน 4.1 ขวบ (จัดว่าเป็นเด็กโต) คนเล็ก 5 เดือน ตอนนั้นมุ่งที่คนโตอย่างเดียว เพราะคนเล็กยังไม่รู้เรื่องอะไร กำลังหัดนั่งอยู่เลย ทำตามแนวความคิดเด็กสองภาษามาเรื่อยๆ ค่ะ เข้ามาหาเทคนิค วิธีการ แรงกระตุ้นจากคลิป บล็อคคุณแม่ท่านอื่นๆ ที่เขียนเล่าเรื่องโน้นนี้กันไว้ โชคดีหน่อยที่ลูกไม่ต่อต้าน (มีอยู่ครั้งเดียวที่วิ่งหนี เพราะแม่พูดเยอะเกิน ลูกฟังไม่เข้าใจ โกรธแม่แล้วก็วิ่งไปเลย) ผ่านไป 11 เดือน อิ่ม ลูกชายคนโตอายุได้ 5 ขวบ ก็สามารถถาม ตอบ เล่าเรื่องราวได้ ถึงแม้ไวยากรณ์จะไม่ถูกต้องนัก แต่ก็รู้สึกภูมิใจว่าเราสามารถทำให้ลูกพูดได้แล้ว ในขณะที่ลูกชายคนเล็ก 1.4 ปี ก็ยังพูดได้ไม่มาก แค่เป็นคำๆ แค่นั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมาสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว(เอง)เลยคือ สอนลูกพูดได้ แต่ออกเสียงไม่ถูก ไม่ชัด (อย่างว่าต้นฉบับไม่ชัด สำเนาจะชัดได้ยังไง) มาเริ่มรู้ตัว จากการดูคลิปสมาชิกบ้านอื่นๆ ทำไมเค้าพูดกันสำเนียงดีมาก ออกเสียงชัดเจน คือแบบว่าถ้าไม่เห็นหน้าก็คิดว่าเด็กต่างชาติเลยหล่ะ หนักใจเลยทีนี้ ทำไมเรากับลูกพูดไม่ได้อย่างนั้นบ้าง ทำไงดีล่ะ ในที่สุดก็ตัดสินใจเข้ามาร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปโฟนิกส์และการออกเสียง (รุ่นที่ 13) การออกเสียงที่เราไม่เคยได้เรียนในหลักสูตรของโรงเรียน โฟนิกส์คืออะไร ยังไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำ หลังจากจบเวิร์คช็อป ปรากฎว่า ที่สอนมาต้องรื้อกันใหม่ งานช้างล่ะทีนี้ ลูกชายพูดได้เยอะแล้วด้วย ความถี่เท่านั้นที่จะลบล้างออกไปได้ ในขณะที่คนเล็กกำลังเริ่มเรียนรู้ และเดาว่ากำลังฝึกเลียนเสียงตามวัย เริ่มใหม่กับการออกเสียงให้ชัด เคลียร์ (ยากอ่ะ) ต้องฝึกเท่านั้น ฝึกพูดตามเจ้าของภาษาบ่อยๆ แล้วก็จะชิน(ปาก)ไปเอง โดยการให้ลูกดูปาก พูดตามให้ชัด ทั้งเสียงต้นและเสียงท้าย หากไม่ชัดก็ต้องพูดใหม่ ไม่รู้แม่โหดไปรึเปล่า แต่ก็ต้องใช้วิธีนี้เท่านั้น การฝึกฟังก็ช่วยได้มากเหมือนกัน เวลาผ่านไป 6 เดือน พัฒนาขึ้นทั้งแม่และลูก แต่ผลลัพธ์ที่ได้มากกว่านั้น คนที่ทำได้ดีกว่าใครในบ้านคือ เอม ลูกชายคนเล็ก ซึ่งเข้าสู่วัย 2 ขวบกว่า ที่ผ่านมาเจ้าตัวน้อยของเราได้แอบซุ่ม เก็บเล็กผสมน้อยจากที่แม่สอนพี่ชายนี่เอง 555 เอมพูดมีเสียงท้ายชัดเจน เริ่มเห็นผลจากคนเล็กแล้วซิ ถึงแม้จะพูดได้เป็นคำๆ ยังไม่เป็นประโยคก็ตาม ในขณะเดียวกันโครงการภาษาที่สามกับลูกก็ยังไม่คืบไปไหนไกลนัก เพราะกลับมาเน้นการออกเสียงเป็นหลัก ตอนนี้อิ่ม 6.1 ปีแล้ว พัฒนาการไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก นอกจากการออกเสียงที่ชัดเจนขึ้น บวกกับสำเนียงที่ยังเป็นไทยอยู่ (ประเมินจากความรู้สึกของตัวเอง) ส่วนเอม 2.5 ปี พูดได้หลายประโยคแล้ว แถมสำเนียงดีกว่าพี่อิ่ม เค้าได้จากการพูดเลียนแบบการ์ตูน เป็นสิ่งที่ได้นอกเหนือจากแม่กับพี่ หลายคำเอมพูดชัดกว่าอิ่ม เอมพูดภาษาอังกฤษเป็นส่วนมากเวลาอยู่ที่บ้าน ต้องขอย้อนกลับไปนิดนึง ตอนที่เอมเข้าเนอสเซอรี่ด้วยวัย 1.9 ขวบ วันที่ไปสมัครวันแรก กลัวลูกเข้ากับเพื่อนไม่ได้ กลัวลูกสื่อสารไม่เข้าใจ เพราะเอมพูดไทยได้น้อยมาก (พูดได้ไม่ถึง 5 คำด้วยซ้ำ ก็ไม่เคยสอนภาษาไทย ลูกจะพูดไทยได้ยังไง) เลยบอกคุณครูว่า ‘น้องพูดไทยได้น้อยมากนะคะ พูดได้ไม่กี่คำ เค้าอาจจะไม่เข้าใจเวลาคุณครูพูดนะคะ’ โชคดี คุณครู (เจ้าของเนอสฯ) ใจดีมาก เค้าถามว่า ‘เด็กสองภาษาใช่มั้ย ไม่ต้องกังวล ที่นี่ก็มี 2-3 คน’ (ค่อยโล่งหน่อย ลูกมีเพื่อนเด็กสองภาษาด้วยกันละ) จากนั้น คุณครูก็หันไปพูดโหมดอังกฤษกับเอม แล้วจูงมือกันไปเล่นของเล่น เท่านี้เราก็อุ่นใจแล้ว พัฒนาการที่เนอสฯ หลังจากผ่านไป 4-5 เดือน คุณครูบอกว่า ‘เอมไม่มีปัญหาในการเข้ากลุ่มกับเพื่อน แต่เวลาที่คุณครูบอกให้ทำอะไรเป็นภาษาไทย น้องจะยังนิ่งอยู่ เหมือนยังไม่เข้าใจคำสั่ง พอคุณครูเปลี่ยนโหมดเป็นอังกฤษ น้องก็ทำได้ เรื่องการตอบคำถามภาพสัตว์ น้องตอบได้แต่จะตอบด้วยภาษาอังกฤษ คุณครูต้องพยุงการพูดภาษาไทยให้’ เหมี่ยวคิดว่า นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาที่น่ากังวล ที่เอมเป็นอย่างนี้เพราะอยู่ที่บ้านเราใช้ภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทยเท่านั้นเอง เอมเรียนที่เนอสฯ ได้ 8 เดือนแล้ว ภาษาไทยก็ได้มาจากโรงเรียนไม่น้อยเหมือนกัน ประสบการณ์ที่ผ่านมากับลูกชายสองคน (วัยห่างกัน 3.8 ปี) ทำให้รู้ว่า การสร้างเด็กสองภาษานั้น ต้องใช้เวลา เก็บเล็กผสมน้อย จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี ทำไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวคิดว่าทางลัดหรือหลักสูตรเร่งรัดนั้นคงไม่มี ยิ่งเริ่มตอนเล็กเท่าไหร่ยิ่งดี เรื่องที่จะพูดยังไม่มาก คนสอนก็ไม่เครียด ไม่ต้องหาแรงบันดาลใจ ไม่ต้องสร้างเงื่อนไข เด็กเค้ารับรู้แค่ว่า เกิดมาแม่ก็พูดกับเค้าแบบนี้ และเค้าก็พูดกับแม่แบบนี้ ไม่มีข้อสงสัยหรือคำถามใดๆ จากลูกคนเล็กเลย ทุกอย่างจะค่อยๆ ซึมซับไปเอง เริ่มเห็นผลชัดเจนก็ 2 ขวบไปแล้ว ต่างจากเด็กโตที่มีข้อต่อรองเยอะ ต้องใช้ความพยายามมากหน่อยในช่วงแรก ต้องสร้างเงื่อนไขและหาแรงบันดาลใจ(ที่ดึงดูด) แต่ครอบครัวไหนที่เริ่มสอนเด็กโตแล้วก็อย่าเพิ่งท้อนะคะ มีหลายครอบครัวทำสำเร็จมาแล้ว ทุกอย่างอยู่ที่ความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงค่ะ ส่วนครอบครัวที่มีเด็กเล็ก อย่ารอเวลาเลยค่ะ เริ่มได้ทันที ไม่สูญเปล่าหรอกค่ะ เค้ารับรู้แน่นอน แต่ด้วยพัฒนาการในการสื่อสารตามวัย ความพร้อมในการพูด อาจจะต้องใจเย็นรอเวลาซักหน่อย เด็กจะพูดทันทีเมื่อเค้าพร้อมค่ะ เป็นกำลังใจให้นะคะ อย่างไรแล้วก็ต้องขอขอบคุณหนังสือเด็กสองภาษาฯ หมู่บ้านเด็กสองภาษาฯ ที่ทำให้ชีวิต(การเลี้ยงลูก)เปลี่ยนไป ได้พัฒนาภาษา(ที่สองและสาม)ให้ตัวเองเพื่อลูก ได้อ่านบล็อคดีๆ ที่คอยเป็นกำลังใจ และกระทู้อีกมากมายที่แนะนำแหล่งความรู้ เป็นแรงกระตุ้นให้ไปค้นคว้าและต่อยอดเพิ่มได้เรื่อยๆ ขอบคุณจากใจจริงค่ะ