พอถึงบางอ้อ…ก็เลยอยากบอกต่อ

Posted by อ้อม&ปาล์มมี่ on June 20, 2010 at 11:30pm

จริงๆแล้วเรื่องราวที่อยากจะบอกต่อ ก็เป็นเนื้อหาซ้ำเดิมที่ผู้ใหญ่บิ๊กได้บอกกับเราทุกคน(ที่อ่านหนังสือเด็กสองภาษาฯ)แล้ว หรือแม้กระทั่งพี่ๆน้องๆในหมู่บ้านก็เคยบอกเคยคุยกันไปแล้ว แต่อ้อมอยากจะเล่าอยากจะบอกในมุมของอ้อม

จากประสบการณ์การสร้างเด็กสองภาษาของตัวเอง(แม่ไม่เก่งอังกฤษ)ค่ะ

  1. เลือกระบบให้เหมาะกับตัวเอง.. ของอ้อมเลือก OPOL ค่ะ โอ่โฮ้!โคตะระ เครียด เครียด เลยค่ะ ทั้งเหนื่อยทั้งท้อ ดีนะที่ไม่ถอยไปซะก่อน ส่วนหนึ่งก็ได้กำลังใจจากหมู่บ้านแห่งนี้แหล่ะค่ะ ถ้าย้อนเวลาได้อ้อมคงเลือกระบบ OTOL แล้วค่อยๆเพิ่มความถี่ความเข้มข้นไปเรื่อยๆ คิดว่ามันน่าจะไม่เครียดเหมือนที่เจอมา เพิ่งคิดได้ว่า “อะไรก็ตามที่คนอื่นเค้าบอกว่าดี มันจะดีที่สุดถ้ามันเหมาะกับเรา และเราเหมาะกับมัน”
  2. ใจร้อน.. ตอนเริ่มใหม่ๆ อ้อมดูคลิปของพี่ๆน้องๆ เห็นเจ้าตัวเล็ก(ของแต่ละบ้าน)พูดอังกฤษได้ โอ๊ย! อยากให้ลูกเราพูดได้เร็วๆบ้างจัง ดูคลิปของบ้านนี้ อุ๊ย..เค้าใช่เวลาแค่นี้เอง บ้านโน้น..เค้าสอนอย่างนี้เหรอ อย่างนั้นเหรอ ไม่เห็นยาก(ลืมไปเลยว่าอังกฤษตัวเองไม่กระดิกเลย) แล้วก็สรุปเองเลยว่า ฉันสร้างเด็กสองภาษาภายในระยะเวลา 5-6 เดือน ฮ่ะ ฮ่ะ ฮ่ะ เพิ่งคิดได้ว่า การเลียน(แบบ)ภาษา หรือเรียนอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับทักษะ มันต้องใช้เวลาและการฝึกฝน อย่างตอนเป็นเด็กๆ(ตอนนี้เป็นสาว)ที่เราเรียนพิมพ์ดีด ต้องเรียนวันละ 2 ชั่วโมง 5 วันต่อสัปดาห์ แถมพักเที่ยงอาจารย์ยังบังคับให้ไปฝึกต่ออีก ต้องฝึกอยู่ตั้งนานสองนาน นิ้วตกร่องแป้นพิมพ์เป็นแผลก็ตั้งหลายหน กว่าจะพิมพ์ได้โดยไม่ต้องมองแป้นมันก็ใช้เวลานานอยู่ และกว่าจะพิมพ์ได้ 50 คำ 60 คำ 70 คำ ต่อนาที เราก็ต้องฝึกกันเป็นปีๆ

แล้วคิดจะสร้างเด็กสองภาษาในเวลาอันสั้น ฮืม..นะ (แต่อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละคนด้วยนะคะ)

  1. คำศัพท์.. เนื่องมากจากความใจร้อน ศัพท์เลยไม่แน่นทั้งแม่ทั้งลูก บางทีลูกถามแม่ แม่ก็ลืม”มันเรียกว่าอะไรว้า” บางทีแม่ถามลูก ลูกก็ลืม”อื่ม” ลูกคงจะลืมน่ะคะ เพราะแม่ไม่ได้บอกบ่อยๆ ดูยังไงแน่นไม่แน่น ถ้าศัพท์แน่น..เวลาถามว่านี้อะไร ก็ต้องสามารถตอบ(อังกฤษ)ได้ทันทีเลยว่ามันเรียกว่าอะไร แบบไม่ต้องมานั่งนึกนั่งแปลกันอีก
  2. ขี้เกียจ.. จำได้ว่าช่วงแรกๆ ขยันเช็คการออกเสียง แต่…เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้เช็คเลยค่ะ อาจจะเป็นเพราะว่า…เพราะว่าอะไรก็ไม่รู้ค่ะ นึกไม่ออกว่าทำไมไม่ค่อยได้เช็คเสียง ผลคือเวลาพูดไม่มีเสียงท้ายทั้งแม่ทั้งลูก แต่ตอนนี้กำลังปรับปรุงอยู่ค่ะ
  3. ช้า ชัด เคลียร์.. เมื่อก่อนคิดว่าฝรั่งเค้าพูดเร็ว รัว เวลาคุยกับลูก เราก็เลยพยายามพูดเร็วๆ แหม่!…เวลาพูดอังกฤษเร็วๆมันดูเหมือนเราพูดเก่งเลยหล่ะ แต่..อยู่มาวันนึง..ถึงวันที่ลูกเราสามารถพูดอังกฤษได้เป็นประโยคสั้นแล้ว ลูกก็พูดออกมาว่า….

“หม่ามี่ เวาะ ยู อยู่อิ้ง” ลูกพูดเก่งจัง พูดซะเร็วเล๊ย แต่แม่ฟังไม่ออก ถามกลับไป ลูกตอบประโยคเดิมกลับมาอีก เป็นอย่างนี้อยู่สองสามรอบ โอ๊ว..โน..พระเจ้าช่วยกล้วยทอด ลูกพูดว่า mommy, what are you doing? ลูกคงได้ยินเราพูดแบบนั้น แบบนั้น.. ตอนนี้ก็พยายามจะพูดให้ช้าลง แล้วก็พูดเต็มๆตรงๆไปเลยค่ะ

  1. น่าเสียดายจัง.. วันนึงไปเดินตลาดนัด ณ แผงขายกิ๊ปช๊อป เจ้าของร้านเป็นสามีภรรยา(น่ารักทั้งคู่เลยค่ะ) ภรรยา:”พี่คะ น้องเรียนโรงเรียนอะไรเหรอคะ” อ้อม:”ยังไม่ได้เข้าเรียนเลยค่ะ” ภรรยา:”คุณพ่อเป็นต่างชาติรึเปล่าคะ” อ้อม:”เปล่าค่ะ พี่สอนเอง พี่อ่านหนังสือสองภาษาฯ แล้วพี่ก็สอนเอง” สามี:”เห็นมั๊ย” (แล้วก็มองไปที่ภรรยา) เมื่อก่อนผมก็สอนเหมือนกันครับ ลูกก็พูดได้บ้างแล้วนิดหน่อย แต่พอไปโรงเรียนแล้วภาษาไทยแซง ตอนนี้ผมก็เลยเลิกแล้วครับ”
  2. หนังสือ.. เมื่อก่อนไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับหนังสือหรือนิทานซักเท่าไหร่ เพราะจับหนังสือที่ไรคุณหนูวิ่งจู๊ดดดด.ทุกที(ทำไมเป็นยังงี่นะ) เพิ่งมารู้ทีหลังว่า..หนูไม่อยากอ่านเล่มที่แม่เลือกให้หนิ หนูยากเลือกเอง พอให้ลูกเลือกหนังสือเองก็สนใจหนังสือมากขึ้น(อันนี้ไม่ได้คิดเองนะคะ ได้รับคำแนะนำ ทำตามก็ได้ผล) แต่ต้องเลือกให้เหมาะกับวัยของลูกด้วยนะคะ นอกจากจะได้ศัพท์ วลี ประโยคจากหนังสือแล้ว สิ่งที่ชอบมากที่สุดคือ จินตนาการอันก้าวไกลของลูก(แหม! พูดซะเว่อร์เลย) จริงๆนะคะไม่ได้โกหก รู้ได้จากวันนึง ลูกหยิบหนังสือแล้วอ่านให้ป่าป๊าฟัง ป๊าบอกว่าลูกเก่งจังอ่านนิทานให้ฟังได้ตั้งเยอะ หารู้ไม่ หนูแค่พูดไปตามใจอยากเท่านั้นเองค่ะ
  3. สำเนียง..ทำไมนะฝรั่ง(บางคน)เค้าถึงพูดไทยชัดจัง เป็นเพราะเค้าออกเสียงชัดใช่มั๊ยค่ะ สวยก็คือสวย ไม่ใช่สวยเป็นซวย มองกลับกัน ถ้าเราออกเสียงภาษาอังกฤษชัด มันก็น่าจะพอ แต่จริงๆแล้ว..เท่าที่เห็นมา(นัดเจอกัน)แม่ๆสองภาษาสำเนียงดีกันทุกคนเลยนะคะ ไม่ได้แกล้งชม เป็นอย่างนั้นจริงๆ ทั้งนี้อาจเพราะแม่ๆ ได้ฟังคายุ(และอื่นๆ)มานานพอควรแล้ว
  4. คายุ.. อย่าปล่อยลูกดูคายุ(และอื่นๆ)คนเดียวนะคะ ตรงนี้ไม่ขอพูดถึงผลเสียตามหลักวิชาการ(เพราะไม่รู้ค่ะ) แต่ถ้าไม่ดูกับลูกเท่ากับปิดโอกาสการเพิ่มภาษาอังกฤษให้ตัวเอง แล้วถ้าวันไหนลูกพูดได้แล้ว วันนั้นคุณจะตามลูกไม่ทัน.. อีกอย่างบางครั้งคายุก็เกเร ทำตัวไม่น่ารัก มันจะดีถ้าเราดูอยู่กับลูกแล้วบอกลูกว่าสิ่งไหนไม่ควรทำ..
  5. ถึงบางอ้อ.. อ้อ! ที่ผู้ใหญ่บิ๊กบอกเราไว้(ในหนังสือเด็กสองภาษาฯ) หรือที่พี่ๆน้องๆบอกเราไว้(ในบล็อก) มันเป็นอย่างนี้นี่เอง ถ้าอ้อมไม่ได้เริ่มปฏิบัติการเด็กสองภาษา วันนี้อ้อมก็คงไม่มาถึงบางอ้อ และถ้าคุณไม่เริ่มคุณก็ไม่มีวันได้รู้เลยว่า คุณก็เป็นอีกคนที่สามารถสร้างเด็กสองภาษาได้จริงๆ..

“ขอให้สนุกในการสร้างเด็กสองภาษา แล้วเด็กจะสนุกที่ได้เป็นเด็กสองภาษา”(จำไม่ได้แล้วค่ะว่าได้ยินมาจากไหน)

ทั้งหมดเป็นแค่ประสบการณ์ของอ้อมเอง แค่อยากจะบอกต่อนะคะ ไม่ได้มีอะไรในก่อไผ่ ไม่มีอะไรกำลังจะมานะจ๊ะ..น้องดา