ครอบครัวเราโชคดีอย่างมากที่พบ เข้าใจ และปฏิบัติตามแนวคิดเด็กสองภาษา จนเราสามารถสร้างไออุ่นเป็นเด็กสองภาษาที่น่ารักได้ คุณบิ๊กได้ชี้ให้เห็นว่า แนวคิดเด็กสองภาษาเป็นการสอนภาษาที่ธรรมชาติและเรียบง่ายมาก คือ “สอนภาษาอังกฤษ (หรือภาษาใดๆ) เหมือนกับเราสอนภาษาไทยให้ลูก” ก็แค่นั้นเอง ขอบคุณครอบครัวคุณบิ๊ก และครอบครัวน้องภาที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ขอบคุณเพื่อนๆในเวปสองภาษา โดยเฉพาะห้องพิษณุโลก ที่มาร่วมให้กำลังใจและเดินทางไปด้วยกัน หวังว่าทั้งแนวคิดเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ และ แนวคิดพูดสองภาษาคุณสร้างได้เอง จะเข้าไปอยู่ในบ้านและโรงเรียนของเด็กไทยทุกคนในสักวัน
ความในใจแม่เน
หมอเน หนึ่งในครอบครัวเด็กสองภาษาที่มีความมุ่งมั่นและทั้งการสอนลูก และจัดตั้งกลุ่มเพลย์กรุ๊ปพิษณุโลกได้อย่างยาวนานต่อเนื่องหลายปี
ผมรู้จักหมอเนครั้งแรก…จากอีเมล์ที่เรียกร้องให้ผมมาจัดเวิร์กช็อปเด็กสองภาษาที่พิษณุโลก ซึ่งผมประเมินครั้งแรกแล้ว ยังไม่แน่ใจว่ามีจำนวนครอบครัวที่สนใจมากเพียงพอหรือเปล่า เพราะมันเป็นเรื่องที่ใหม่ และก็ได้รับการติดต่อมาเรื่อยๆ จนผมต้องตัดสินใจลองจัดเวิร์กช็อปดูสักครั้ง และไม่น่าเชื่อว่าสามารถจัดได้ มีครอบครัวลงทะเบียนมาเรียนในครั้งแรกนับสิบครอบครัว
และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ครอบครัวน้องไออุ่น เริ่มฝึกลูกเป็นเด็กสองภาษาอย่างถูกต้องตามแนวคิด และแม่เนก็มีความตั้งใจมุ่งมั่นในการสอน ในการพัฒนาตัวเองเป็นอย่างมาก ถึงกับจัดตั้งกลุ่มเพลย์กรุ๊ปเพื่อดึงเอาครอบครัวเด็กสองภาษาในจังหวัดมารวมตัวกันทำกิจกรรมเด็กสองภาษาอย่างจริงจัง ต่อเนื่องกันหลายปีจนลูกโตถึงค่อยส่งไม้ต่อให้กับรุ่นถัดไป
ความมุ่งมั่นของแม่เน สร้างความประทับใจให้กับผมมาก จนถือว่าเป็นหนึ่งในครอบครัวที่มีความมุ่งมั่นในการเด็กสองภาษาอย่างจริงจังครอบครัวหนึ่งที่ผมเคยเจอมา
-
ข้าวผัดกะเพราไส้กรอกชีส by ไออุ่น ส่งงานเนตรนารี
-
THE COLOR MONSTER read aloud by Ioon
-
The doorbell rang read aloud by Ioon
-
The dot read aloud by Ioon
-
I'm here read aloud by Ioon
-
Olivia read aloud by Ioon
-
Waiting read aloud by Ioon
-
A Grand Old Tree read aloud by Ioon
-
Pomelo Begins to Grow read aloud by Ioon
ครอบครัว : ธนานิธิศักดิ์ (น้องไออุ่น)
ชื่อพ่อ : ทพ.นพดล ธนานิธิศักดิ์
ชื่อแม่ : ทพญ.ฤทัย ธนานิธิศักดิ์ (สัมภาษณ์คุณแม่)
ชื่อลูก : ดญ.วิรัลพัชร ธนานิธิศักดิ์ ไออุ่น (อายุ 3 ปี 6 เดือน)
อาศัยอยู่จังหวัด : พิษณุโลก
เริ่มสอนตอนอายุ 2 ปี 7 เดือน
รู้จักแนวคิดเด็กสองภาษาได้อย่างไร แล้วทำไมถึงสนใจแนวคิดนี้?
รู้จักชื่อและแนวคิดเด็กสองภาษา จากหนังสือเด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้
รู้จักแนวคิดนี้ แบบรู้จักและเข้าใจถูกทางมากขึ้นอีก จากเวิร์กช็อปเด็กสองภาษา และเวิร์กช็อปโฟนิกส์
รู้จักและเข้าใจแนวคิดนี้ลึกซึ้งขึ้น ได้คำตอบด้วยตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการนำแนวคิดมาใช้สอนลูกจริงในภาคสนาม
สนใจแนวคิดเด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้เพราะอยากให้ไออุ่นพูดภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติ มีพัฒนาการทางภาษาที่ดี คิดว่าเป็นแนวคิดที่เชื่อในศักยภาพของพ่อแม่ และได้รับการพิสูจน์จากหลายครอบครัวแล้วว่าสามารถนำไปใช้ได้จริง
ระดับภาษาอังกฤษของพ่อแม่ตอนเริ่มสอนเป็นอย่างไร มีความมั่นใจแค่ไหนในการสอนลูก?
พอใช้ ชอบภาษาอังกฤษ แต่การใช้งานได้มันสวนทางกัน ต้องปัดฝุ่น ทบทวนกันใหม่อีกมาก
ระบบที่เลือกใช้ฝึก แล้วทำไมถึงเลือกใช้ระบบนี้?
หนึ่งคนหนึ่งภาษา แม่พูดภาษาอังกฤษ พ่อพูดภาษาไทย เพราะอยากให้ได้ผลเร็ว แม่เลยจัดเต็ม
ระยะเวลาสอนจนเด็กเริ่มพูดโต้ตอบกลับเป็นภาษาที่สองอย่างเป็นธรรมชาติ?
5 เดือน
เสี้ยวเวลาที่ลูกโต้ตอบกลับมาเป็นภาษาอังกฤษได้รู้สึกอย่างไร?
ปลื้มใจมาก ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ไม่ได้คาดหวังแล้ว พอไม่คาดหวัง ความเครียดหายไป ความสนุกตามมา ทุกอย่างก็ค่อยๆ ตามมาเอง จนไม่รู้ตัวกันเลย ที่ปลื้มและขำตามมา ก็คือตอนที่ไออุ่นละเมอเป็นภาษาอังกฤษ และถ้าแม่เผลอพูดไทยด้วย ไออุ่นจะทักกลับทันทีว่า Why did you speak Thai to me? แล้วยิ้มแบบเขินๆ นอกจากปลื้มคุณลูกแล้ว คุณแม่ยังประทับใจเสี้ยวเวลาที่คุณพ่อ ( ที่รับหน้าที่สอนภาษาไทย และไม่ชอบภาษาอังกฤษเอาซะเลย ) เผลอพูดภาษาอังกฤษออกมาจากความรู้สึก วันนั้นเราไปเดินเล่นกัน เจอหมาสีน้ำตาล คุณพ่อชี้ให้ไออุ่นดู แล้วพูดออกมาว่า brown dog เราก็มองหน้ากันแล้วอมยิ้มกันทั้งบ้าน
เริ่มต้นอย่างไรแล้วเจออุปสรรคอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร?
เริ่มใจร้อนไปหน่อย พูดใส่ลูกเยอะ บังคับให้ตอบกลับ และเข้าใจผิดหลายประเด็น ดีที่เป็นไม่นาน กลับตัวทัน เพราะได้เข้าเวิร์กช็อปที่พิษณุโลกพอดี บวกกับอ่านหนังสือทบทวนอีกรอบ ปรับความเข้าใจ ยึดแนวคิดและพยายามปฏิบัติตามแบบเป๊ะๆ เริ่มสอนจากคำศัพท์รอบตัวง่ายๆ ออกเสียงให้ชัด แล้วค่อยๆส่งผ่านรอยต่อไปเรื่อยๆ ใจเย็นๆ
ลูกต่อต้าน จำได้ว่าช่วงเดือนแรกของการสอน พยุงการพูดให้ลูกจนเหนื่อยกันทั้งแม่ทั้งลูกทั้งวัน ลูกไม่ตอบแล้ววิ่งหนีไปหาพ่อ แม่ก็เครียด ทั้งที่ทราบแล้วว่าต้องรักษาความสนุกไว้ แต่เราก็ยังหงุดหงิด คาดหวัง ครั้งนั้นต้องกลับมาตั้งสติว่าเรากำลังทำอะไร มุ่มมั่นแต่ไม่คาดหวังเกินไป ทำตามแนวคิดไปเรื่อยๆ พอถึงวันที่ลูกโต้ตอบกลับเป็นภาษาอังกฤษได้ทั้งวันแล้ว กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ตอนเย็นของวัน
แม่นึกศัพท์และประโยคภาษาอังกฤษไม่ออก ก็ต้องบอกเค้าไปตรงๆว่าแม่ไม่รู้ เดี๋ยวแม่มาบอกทีหลังนะ แล้วก็หาความรู้เพิ่มเติมมาเตรียมแก้ตัวในครั้งต่อไป พยายามพัฒนาตัวเองเพื่อให้นำไปสอนลูกได้ โดย ทบทวนศัพท์ในหนังสือเด็กสองภาษา เข้าเว็บสองภาษา เตรียมศัพท์และประโยคล่วงหน้าหากทราบว่าจะมีสถานการณ์พิเศษที่เราไม่คุ้นเคยเกิดขึ้น
แม่ลูกคุยกันไม่เข้าใจ เช่นครั้งหนึ่งเตรียมจะไปงานเลี้ยงคุยกับไออุ่นว่า “We’ll go to join the party” แล้วก็ไปงานจนกลับออกมา ได้ยินไออุ่นถามว่า “Where is the potty?” ก็นึกว่าเค้าจะฉี่ เค้าก็บอก “No!!” คุยกันตั้งนาน อ๋อ “party” ไม่ใช่ “potty” เพราะเรามาแล้วลืมบอกเค้าว่าที่นี่คืองานเลี้ยง พอกลับออกมาเค้าเลยสงสัยว่าไหนล่ะงานเลี้ยง จึงต้องให้ความสำคัญกับการออกเสียงให้ชัดเคลียร์เพิ่มขึ้นอีก
แม่และลูก ต่างคนต่างไม่มีคู่ซ้อมอื่น สำหรับคู่ซ้อมของลูก ช่วงแรกๆ บ้านเรานัดครอบครัวเพื่อนที่รู้จักมาเจอกัน สอนตามแนวคิดเด็กสองภาษา ชวนลูกให้คุยกันเป็นภาษาอังกฤษ พ่อแม่ก็ได้ปรึกษากันไปด้วย ประทับใจบรรยากาศแบบนี้มากๆ มันได้กำลังใจเอากลับไปทำที่บ้านต่อทุกครั้ง เลยชวนเพื่อนๆมาจัดกลุ่มให้ใหญ่ขึ้นเป็นกลุ่มเด็กสองภาษาพิษณุโลก (โดยอาศัยต้นแบบจากกลุ่มเด็กสองภาษาอุบลราชธานี ขอบคุณนะคะ)
พอจัดมาได้สักพักก็เริ่มจัดมีตติ้งของกลุ่มเด็กโตและผู้ใหญ่ ( ตามกลุ่มอุบลมาอีกเช่นเคย ) ในมีตติ้งนี้เองที่เราจะได้คู่ซ้อมฝึกภาษาอังกฤษของแม่และพ่อ โดยใช้แนวคิดพูดสองภาษาคุณสร้างได้เอง ช่วยฝึกการออกเสียงโดยการเล่นการ์ดเกมส์ การทำกลุ่มเด็กสองภาษาและมีตติ้งเป็นการตอบโจทย์ได้สำหรับปัญหาหลายๆเรื่องที่ครอบครัวเราและเพื่อนๆเคยพบมา ได้ตรงใจที่สุด เป็นความภูมิใจอย่างมากที่ได้เห็นเพื่อนๆ มาแบ่งปัน ช่วยเหลือและให้กำลังใจกัน ถึงจะเหนื่อยหน่อย แต่เมื่อคิดถึงภาพรอยยิ้มของกลุ่มที่ไรก็ชื่นใจทุกครั้ง และรู้สึกว่าช่างคุ้มค่าจริงๆที่ได้ทำ ขอบคุณเพื่อนๆได้ช่วยกันทำให้ห้องพิษณุโลกมีชีวิตนะคะ
คำแนะนำและความคิดเห็นอื่นๆให้กับพ่อแม่ท่านอื่น?
ก่อนเริ่มสอน ต้องศึกษาแนวคิดให้เข้าใจ ลึกซึ้ง ศึกษาเพิ่มเติมจากประสบการณ์ของบ้านอื่น มาปรับใช้เป็นแนวทาง และทางลัดสำหรับบ้านเรา ( แต่ไม่ใช่นำมากดดันตัวเองจนเครียดนะคะ ) ส่วนรายละเอียด เทคนิค วิธีหลอกล่อต่างๆเกี่ยวกับการสอนลูกนั้น พ่อกับแม่เท่านั้นที่จะทราบและเข้าใจลูกของเรามากที่สุด
เรียกกำลังใจ โดยลองสังเกตคำพูด ประโยค ที่คุยกับลูกในแต่ละวัน จะพบว่าส่วนใหญ่คุยกันตามกิจวัตรประจำวัน ไม่ยาก ไม่เยอะ ซ้ำๆ เดิมๆ เริ่มสอนจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไปที่ไหนก็ชี้ชวนให้ดู สอนกันซะทุกที่ พยายามเอาตัวเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการเรียนรู้ การมีเพื่อนเรียนไปด้วยกันทั้งสนุกกว่า และเหนื่อยน้อยกว่าลุยไปเองเยอะนะคะ เพราะเรากำลังสอนภาษาในประเทศที่คนส่วนใหญ่เค้าไม่ได้พูดกัน อย่าลืมหาเพื่อนร่วมทาง ไม่ว่าจะเป็นในเว็บสองภาษา หรือเพื่อนที่รู้จัก หากจังหวัดไหนมีกลุ่มเด็กสองภาษา หรือมีตติ้งขอเชียร์ให้รีบเข้าร่วมเลยนะคะ นอกจากเป็นการหาคู่ซ้อมให้ทั้งลูกและแม่แล้ว ยังเป็นที่จุดไฟ เติมพลังชั้นดีเลยทีเดียวเชียวค่ะ
เราเป็นคนที่อยู่กับลูกแบบตัวต่อตัว มากกว่าใคร กับครูที่โรงเรียนต้องดูแลเด็กในชั้นเรียนหลายคน ดังนั้นพ่อแม่จึงเป็นบุคคลที่สามารถปลูกฝังภาษา (ไม่ว่าจะภาษาใด) ให้ลูกพูดออกมาจากความรู้สึกได้ดีที่สุด
บล็อกบันทึกเรื่องราวครอบครัวเด็กสองภาษา
การจัดเพลย์กรุ๊ปและมีตติ้งต่างๆของกลุ่มเด็กสองภาษาพิษณุโลก