หนังสือเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ จุดประกายความคิดให้ครอบครัวของเรา และเปลี่ยนทัศนคติการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของเราไปอย่างสิ้นเชิง จากเมื่อก่อนเคยคิดว่าเด็กไทยจะพูดภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติต้องเป็นลูกครึ่ง หรือต้องเรียนโรงเรียนอินเตอร์ ฯ หรือไม่ก็ต้องไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ แต่เมื่อได้ลองปฏิบัติตามแนวคิดของหนังสือเล่มนี้แล้ว ก็พบว่าแม้ครอบครัวไทยแท้ก็สามารถสร้างลูกให้เป็นเด็กสองภาษาได้ค่ะ
ความในใจแม่อ้อม
ครอบครัว: เฉลียวเกรียงไกร (คุณพ่อเจริญชัย แม่สุธาวดี)
สัมภาษณ์: คุณอ้อม สุธาวดี
เด็ก: น้องขมิ้น (5 ขวบ 6 เดือน) พี่เมือง (8 ขวบ)
อาศัยอยู่จังหวัด: ลำปาง
ก่อนหน้านี้สอนภาษาอังกฤษแบบใด
สอนเฉพาะคำศัพท์รอบๆ ตัวแบบสอนไปแปลไป ไม่เคยพูดเป็นประโยค ให้ลูกดูวีซีดีสอนคำศัพท์ 2000 คำ และดูวิซีดี เพลงฝรั่งแบบเนื้อเพลงกับภาพคนละเรื่องเดียวกัน มาตั้งแต่ลูกคนโตอายุ 3 ขวบ คนเล็กอายุ 1 ขวบ
เริ่มฝึกตามแนวคิดเด็กสองภาษา ตอนเด็กอายุเท่าไร แล้วทำไมถึงเปลี่ยนมาสอนตามแนวคิดเด็กสองภาษา
เราเริ่ม 2 รอบค่ะ
รอบแรกเริ่มตอนเดือนตุลาคมปี 2552 เมืองอายุ 6 ขวบ 8 เดือน ขมิ้นสี่ขวบครึ่ง แต่ทำไม่สำเร็จ ล้มเลิกไปตั้งแต่เริ่มได้ประมาณ 1 เดือน ปัญหาคือ เลือกระบบไม่เหมาะกับตัวเอง แม่ใจร้อน แม่อึดอัดพูดไม่ได้จนพานไม่อยากพูดกับลูก ลูกต่อต้านเพราะแม่กดดันมากเกินไป ก็เลยเลิกเพราะทำไม่ได้ แต่ก็เริ่มเปลี่ยนให้ลูกดูการ์ตูนตามที่หนังสือเด็กสองภาษาเล่มหนึ่งแนะนำ และดูการ์ตูนกับลูกทุกวันก่อนลูกไปโรงเรียนและวันหยุด เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมของลูกไม่ว่าดูหนัง ฟังเพลง ทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด โดยมีพ่อแม่นั่งดูและฟังกับลูกด้วย เพียงแต่พ่อแม่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษกับลูกเท่านั้น
เริ่มครั้งที่สองเดือนกุมภาพันธ์ปี 2553 พี่เมือง 7 ขวบ ขมิ้น 5 ขวบ 1 เดือน หลังจากหายไปนาน กลับมาเข้าเว็บอีกครั้ง รู้สึกมีแรงฮึดขึ้นอีกรอบ เลยเริ่มใหม่ แบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้ประโยคง่ายๆ สั้นๆ พอได้เข้าเวิร์กช็อปเด็กสองภาษาที่เชียงใหม่รู้สึกว่าเข้าใจวิธีการมากขึ้น ก็เริ่มผ่อนคลายตัวเองและลูก จากนั้นลูกเริ่มรับการพูดสองภาษาและไม่ต่อต้าน
ระบบที่เลือกใช้ แล้วทำไมถึงเลือกใช้ระบบนี้ เริ่มต้นอย่างไรแล้วเจออุปสรรคอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร
ทั้งพ่อและแม่ใช้ระบบหนึ่งเวลาหนึ่งภาษา แต่ใช้ภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทยประมาณ 80:20 ที่เลือกระบบนี้เนื่องจากภาษาของแม่ไม่ดี ไม่สามารถพูดกับลูกได้ทุกอย่างที่อยากพูด ลูกโตแล้วมีเรื่องที่ต้องพูดกันมากมาย เช่นเรื่องระเบียบวินัย มารยาท
การเริ่มครั้งที่สองปัญหาน้อยลงเพราะลูกเริ่มชินกับการดูและฟังการ์ตูนภาษาอังกฤษมากขึ้น และอ้อมตกลงกับลูกว่าเราจะฝึกภาษาอังกฤษกันถ้าลูกไม่เข้าใจให้ถาม หรือพูดไทยกับแม่ได้
อุปสรรคที่เจอ
- อยากพูดให้มากที่สุด แต่คิดศัพท์ไม่ออก พูดไม่ได้ทุกเรื่อง ทำให้เครียด การแก้ไข กลับมาเริ่มใหม่ช้าๆ เอาเท่าที่ได้ก่อน ตามที่หนังสือแนะนำ หาข้อมูลเพิ่มเติม พัฒนาตัวเองไปพร้อมๆ กับลูก เข้าเว็บบ่อยๆที่ห้องภาษาอังกฤษของเว็บสองภาษา
- ลูกต่อต้าน รอคอยการแปล แรกๆก็มีแอบแปล เพราะลูกร้องและไม่อยากคุยกับแม่ ต่อมาก็พยายามแปลด้วยศัพท์ง่ายๆ ยิ่งลูกได้ไปฟังเวิร์กช็อปเด็กสองภาษาด้วย เขาจำได้ว่าลุงบิ๊กบอกว่าห้ามแปล เวลาน้องร้องขอให้แปลพี่เมืองจะบอกว่า ไม่ต้องแปลลุงบิ๊กบอกว่าห้ามแปลขมิ้นจำไม่ได้เหรอ
- แม่ท้อ เพราะลูกโต และติดภาษาไทยมาก แต่ก็พยายามหาวิธีกระตุ้นตัวเองไม่ให้เลิกล้มความตั้งใจด้วยการดูคลิปต่างๆ ของคนที่ทำสำเร็จเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจและคิดว่าเราก็น่าจะทำได้
ระยะเวลาสอนจนเด็กเริ่มพูดโต้ตอบกลับเป็นภาษาที่สองอย่างเป็นธรรมชาติ
ประมาณ 4 เดือน (หลังจากการเริ่มครั้งที่ 2)
ระดับภาษาอังกฤษของพ่อแม่ตอนเริ่มสอนเป็นอย่างไร มีความมั่นใจแค่ไหนในการสอนลูก
พ่อภาษาดี ส่วนแม่ภาษาไม่ดี แต่มีความกล้าในการพูด แบบไม่สนใจไวยากรณ์
ช่วงแรกๆ ไม่มั่นใจว่าจะสอนลูกได้ เพราะศัพท์ สำเนียง และไวยากรณ์แม่มั่วมาก แต่อาศัยเรียนไปพร้อมกับลูก อ่านหนังสือมากขึ้น เข้าเว็บสองภาษา หาความรู้และเทคนิคเพิ่ม และมุ่งมั่นทำอย่างจริงจัง เพิ่มความถี่ ทำบนพื้นฐานของความสุขและสนุกไปกับลูก
เสี้ยวเวลาที่ลูกโต้ตอบกลับมาเป็นภาษาที่สองได้ รู้สึกอย่างไร
จริงๆ แล้วมันไม่ทันรู้สึกตัวนะคะว่าลูกสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ตอนไหน เพราะเขาสามารถพูดได้เพิ่มขึ้นทุกวันๆ จนเราไม่ทันสังเกต แต่คนภายนอกทุกคนที่เห็นเด็กๆ พูดภาษาอังกฤษได้ดี แล้วทึ่งว่าทำได้ยังไง ทำให้เราภูมิใจว่าครอบครัวเราก็ทำได้ และมีความสุขมากที่เห็นลูกสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติ
พัฒนาการในแต่ละช่วง
เดือนแรก แม่พ่อพูดไปเฉยๆ พี่เมืองตอบภาษาไทยกลับมา และตอบ Yes No ได้บ้าง ส่วนขมิ้นร้องขอการแปลตลอดเวลา ทางแก้คือ พูดช้าลง ทำท่าประกอบ ใช้คำศัพท์ง่ายๆ เพิ่มความถี่ในการพูดภาษาอังกฤษกับลูก คุณพ่อช่วยแก้สิ่งที่แม่ผิด ซึ่งต้องแก้บ่อยมาก
เดือนที่สองลูกๆ รู้ว่าไม่มีทางเลือกแล้ว เพราะแม่เอาจริง ลูกเริ่มปรับตัว พยายามตอบสิ่งที่แม่ถาม ขมิ้นเริ่ม Yes No พยักหน้า ส่ายหน้า เล่านิทานสั้นๆ จากศัพท์ที่รู้ได้
เดือนที่สามลูกเริ่มพูดก่อนเมื่อต้องการให้แม่หรือพ่อทำอะไรให้ เพราะลูกรู้ว่า ถ้าพูดอังกฤษแล้วจะได้ในสิ่งที่ต้องการอย่างรวดเร็ว ถ้าพูดไทยต้องถูกให้พูดใหม่ ลูกๆ เริ่มตอบคำถามได้มากขึ้น
เดือนที่สี่ลูกสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเป็นธรรมชาติ พูดคุยตอบคำถามด้วยประโยคยาวๆ ที่แต่งเองได้ เล่นกันเองเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างสนุกสนาน แต่ก็ยังมีปนภาษาไทยในคำศัพท์ที่ไม่รู้ สามารถแยกโหมดไทย-อังกฤษได้อย่างชัดเจน พูดกับพ่อแม่ด้วยอังกฤษพูดกับคุณยายด้วยภาษาไทยแบบไม่มีอังกฤษปนเลย
หลังจากเดือนที่สี่ ทุกอย่างก็เข้าที่เข้าทาง เด็กๆ จัดโหมดภาษาได้ดีขึ้น แต่ก็ยังต้องคอยกระตุ้นและพยุงการพูดกันไป ที่ลืมบอกไม่ได้คือภาษาอังกฤษของแม่ก็ดีขึ้นมากจนไม่มีใครรู้เลยว่าช่วงที่แม่เพิ่งเริ่มนั้นแย่ขนาดไหน (ทุกคนคิดว่าต้องมีแม่ที่เก่งภาษาอังกฤษก่อนถึงจะสอนลูกให้พูดภาษาอังกฤษได้ จริงๆเราเริ่มเรียนและสอนไปพร้อมกับลูกได้)
คิดอย่างไรกับการสอน A Ant มด ในโรงเรียน แล้วอยากฝากอะไรถึงโรงเรียนบ้าง
การสอนไป แปลไป ไม่ช่วยให้เด็กพูดภาษาอังกฤษได้ แต่กลับเป็นอุปสรรคต่อการพูดภาษาอังกฤษอย่างมาก เพราะเด็กต้องคิดกลับไปคิดกลับมาจาก ไทย-อังกฤษ-ไทย ทำให้การพูดอังกฤษยากขึ้น พูดติดๆ ขัดๆ ไม่เป็นธรรมชาติ
อยากให้การศึกษาของไทยลองเปลี่ยนแปลงวิธีการ หรือเปิดใจทดลองทำ จริงอยู่เราอาจไม่สามารถเปลี่ยนการศึกษาทั้งระบบได้ แต่อย่างน้อยแค่โรงเรียนได้ยอมรับหลักการแนวคิดเด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้และทดลองทำดู แล้วจะเห็นถึงความแตกต่าง
คนรอบข้างมองอย่างไร เมื่อเห็นเราพูดภาษาที่สองกับลูก แล้วเราทำอย่างไร
จริงๆ อ้อมกว่าคนรอบข้างเขาชื่นชมนะคะ แต่แรกๆ เราเองนั่นแหละที่อายเพราะไม่มั่นใจในการพูดของตัวเอง กลัวคนว่าเราไม่เก่ง แล้วยังกล้าสอนลูกอีก แล้วแก้ยังไงเหรอค่ะ ก็มุ่งมั่นทำไปเรื่อยๆ พอเราทำไปสักพักเราก็จะชินไปเองค่ะ
บางคนพอเห็นว่าเด็กๆ พูดภาษาอังกฤษได้ก็เข้ามาทักและถามว่าทำไมลูกถึงพูดภาษาอังกฤษได้ บางคนถามว่าเด็กๆ เป็นลูกครึ่ง หรือบ้านเราเคยอยู่ต่างประเทศกัน หรือว่าลูกเราเรียนที่โรงเรียนนานาชาติ ผิดหมดทุกคำถามค่ะ คำตอบอยู่ในหนังสือเด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้
คำแนะนำและความคิดเห็นอื่นๆให้กับพ่อแม่ท่านอื่น
ขอให้เชื่อก่อนว่า “เราทำได้” อย่าให้ความไม่มั่นใจว่าเราเองไม่เก่งภาษาอังกฤษมาปิดกั้นโอกาสในการสร้างเด็กสองภาษา หรืออนาตคของลูกคุณเอง เพราะเพียงแค่คุณเริ่มทำมันอย่างจริงจัง สักระยะหนึ่งคุณก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองและของลูก
บทวิเคราะห์โดยผู้ใหญ่บิ๊ก
หนึ่งในประเด็นที่ผมมักโดนลากไปต่อว่าในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งเสมอคือ พ่อแม่อ่อนอังกฤษจะทำให้ลูกพูดเพี้ยน มั่วและขาดความใกล้ชิดกับลูกเพราะพูดไม่ออก ผมอยากให้ท่านเหล่านั้นได้ลองอ่านแนวคิดเด็กสองภาษาให้จบ เพราะเราไม่จำเป็นต้องพูดอังกฤษตลอดเวลาอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด เราเลือกพูดได้ทั้งสองภาษา ตามความเหมาะสมของครอบครัวตัวเอง ไม่ผิดหลักการแต่อย่างไร เพียงแต่แบ่งโหมดในการพูดให้ถูกต้อง
สำหรับพ่อแม่ที่อ่อนอังกฤษ ผมพยายามชี้ให้เห็นว่าเราเรียนพร้อมลูกได้ เรียนเสร็จแล้วสอนได้เลย สอนเท่าที่รู้ก่อน นอกนั้นให้อยู่ในโหมดภาษาไทย ซึ่งครอบครัวคุณอ้อมได้ผ่านประสบการณ์ตรงนี้มา ในครั้งแรกคุณอ้อมเร่งผลิตมากเกินไป ทำให้รู้สึกอึดอัด ลูกต่อต้าน การสอนก็เลยจบลงอย่างรวดเร็ว แต่พอคุณอ้อมเข้าใจหลักการมากขึ้น เลือกระบบให้เหมาะสมกับตัวเอง ค่อยๆทำ ค่อยๆพัฒนาตัวเองไปด้วย จากแม่ที่ไม่เก่งอังกฤษเลย ก็สามารถพูดได้ทั้งวันอย่างเป็นธรรมชาติ น้องขมิ้นก็สามารถพูดได้ไหลลื่น มาจากความรู้สึก ไม่ใช่การท่องจำ นั่นคือสิ่งที่ผมเห็นแล้วอดยิ้มปลื้มใจไม่ได้ทุกครั้งที่เจอกัน