เรื่องของการเลี้ยงลูกเป็นเด็กสองภาษามีมานานแล้ว โดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวที่พ่อและแม่มีความแตกต่างด้านเชื้อชาติและภาษา แต่สำหรับวิธีการสร้างเด็กสองภาษาในแบบของคุณบิ๊กจะพิเศษกว่า ตรงที่พ่อแม่เป็นคนชาติเดียวกัน แต่สามารถสอนให้ลูกเป็นเด็กสองภาษาได้
หนังสือ “เด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้” ตอบได้ทุกโจทย์ของพ่อแม่ที่อยากมีลูกเป็นเด็กสองภาษา อย่าเพิ่งท้อ หากยังไม่ได้ลองอ่าน และยังไม่ได้ลองทำนะคะ เพราะทุกขั้นตอนและทุกแนวทางปฏิบัติทำแล้วได้ผลจริงๆ ค่ะ
ความในใจแม่หน่อย
ครอบครัว: ไวเกล (Weigel)
สัมภาษณ์: คุณหน่อย นีรญา ไวเกล (Niraya Weigel)
เด็ก: น้องพลอยชมพู อายุ 10 ปี (กรณีครอบครัวน้องพลอยชมพู เป็นกรณีพิเศษ ที่ครอบครัวอาศัยอยู่ที่ประเทศเยอรมนีตั้งแต่เด็กเกิดจนโตมาถึงสิบขวบ ดังนั้นสภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยภาษาเยอรมัน แต่คุณแม่น้องพลอยชมพูพยายามรักษาภาษาไทยเอาไว้ โดยพูดกับลูกเป็นภาษาไทยตั้งแต่เกิด รวมถึงสอนให้อ่านและเขียนด้วย ปัจจุบันทั้งครอบครัวย้ายกลับมาอยู่ที่เมืองไทยแล้ว)
ก่อนหน้าลูกจะเกิดเคยมีความคิดจะสอนภาษาไทยให้กับลูกหรือเปล่า
มีความคิดอยู่ตลอดค่ะ ว่าลูกเราต้องพูดไทยได้อย่างสมบูรณ์ เพราะอย่างไรก็ตาม พูดได้หลายภาษาย่อมดีกว่าพูดได้ภาษาเดียวแน่นอนอยู่แล้ว
มีแนวความคิดจะสอนสองภาษาเมื่อไร แล้วคิดว่าควรจะสอนอย่างไร ระบบที่เลือกใช้
แนวความคิดเกิดขึ้นเมื่อตอนตั้งครรภ์ค่ะ แล้วก็เริ่มลงมือปฏิบัติจริงตั้งแต่วันที่ลูกคลอดเลย การสอนก็แบบง่ายๆ พูดกับลูกเป็นภาษาไทยตั้งแต่ลูกเกิด เราอาจจะได้เปรียบกว่าคนอื่นตรงที่ลูกเรียนรู้ภาษาไทยจากแม่และภาษาเยอรมันจากพ่อ โดยที่แม่และพ่อเป็นเจ้าของภาษา ดังนั้นลูกจึงได้สองภาษาแบบเจ้าของภาษาเช่นกันค่ะ
ระบบที่เลือกใช้ แล้วทำไมถึงเลือกใช้ระบบนี้ เริ่มต้นอย่างไรแล้วเจออุปสรรคอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร
ใช้ระบบหนึ่งคนหนึ่งภาษาค่ะ ดิฉันตกลงกับสามีว่าให้ต่างคนต่างสอนภาษาที่ตนเองถนัด ซึ่งดิฉันหมายถึงต่างคนต่างสอนภาษาแม่ของตนให้ลูกนั่นเอง ในส่วนของปัญหาหรืออุปสรรคกับตัวลูก ไม่เคยมีปัญหาใดๆ เลยค่ะ แต่คนรอบข้าง เช่น ญาติ พี่น้อง แม่สามี อาจจะมีบ้าง แต่ก็เพียงเล็กน้อย เช่นการกล่าวติติงว่าเราพูดไทยกับลูกมาก เดี๋ยวลูกพูดเยอรมันไม่ได้เป็นต้น เพราะช่วงแรกเกิดจนถึงลูกพูดคล่อง ดิฉันจะใกล้ชิดลูกมากกว่าใคร ดังนั้นดิฉันจึงมีอิทธิพลต่อลูกมาก ส่วนปัญหาเกี่ยวกับญาติๆ ดิฉันแก้ปัญหาโดยไม่ต้องใส่ใจในคำพูดของคนอื่น เราพยาม และอดทน จนเห็นผลที่ได้รับ คนเหล่านั้นก็เปลี่ยนความคิดไปเองค่ะ
ระยะเวลาสอนจนเด็กเริ่มพูดโต้ตอบกลับเป็นภาษาไทยอย่างเป็นธรรมชาติ
ดิฉันพูดไทยกับลูกทุกวันๆ ตั้งแต่ลูกเกิด พอถึงจุดหนึ่งซึ่งตามเกณฑ์อายุที่เขาจะเริ่มพูด ระยะเวลาที่เขาเริ่มพูดปรกติเหมือนเด็กที่เกิดเมืองไทยทั่วๆ ไปค่ะ แต่ก็น่าแปลกใจนิดหนึ่งตรงที่เขาเริ่มหัดพูดได้ค่อนข้างเร็วด้วยซ้ำ คือเขาเริ่มพูดคำว่า “ปาป๊า” ตอนอายุ 10 เดือน และพูดคำว่า “ยาย” ตอนอายุ 11 เดือน พออายุครบ 1 ขวบ พูดคำว่า “แม่” และพูดได้ทั้งไทยและเยอรมันหลายคำแล้วค่ะ
ดิฉันคิดว่าการสอนให้ลูกเป็นเด็กสองภาษา หรือหลายภาษา ไม่ได้ทำให้ลูกพูดช้าแต่อย่างใด อายุถึงเกณฑ์ของเขา เขาก็จะพูดออกมาเอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูเด็กของแต่ละครอบครัวด้วย ดิฉันมั่นใจว่าหากเด็กได้รับการ เอาใจใส่ มีคนพูดคุยด้วย และมีคนเล่นหยอกล้อเป็นภาษาใดๆ ก็ตามมาโดยตลอดและสม่ำเสมอ โอกาสที่จะพูดช้าในเด็กที่ปรกติ จะมีน้อยมากค่ะ
มีความมั่นใจแค่ไหนในการสอนลูกให้ตลอดรอดฝั่ง
ณ วันนี้ ดิฉันคิดว่า ดิฉันก้าวเลยผ่านตรงจุดของความรู้สึกมั่นใจไปแล้ว ตอนนี้ไม่ได้รู้สึกมั่นใจหรือไม่มั่นใจใดๆ เลย เพราะดิฉันส่งลูกถึงฝั่งเรียบร้อยแล้วค่ะ ดิฉันปลูกฝังสองภาษาให้ลูกเป็นระยะเวลายาวนานถึง 10 ปีเต็ม และตอนนี้หลังจากที่ครอบครัวเราย้ายกลับมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2553 เพียง 4 เดือนเศษ พลอยชมพูอ่านออกเขียนได้คล่องในระดับที่น่าพอใจทีเดียว เขาสามารถไปต่อยอดเอาเองได้แล้ว อย่างเช่นไม่กี่วันก่อนเขาอยากได้หนังสือการฝีมือร้อยสร้อยคริสตัล แม่ซื้อให้แล้วเขาก็มาอ่านวิธีทำเอง จนทำได้สำเร็จ เสร็จแล้วเอามาอวดแม่ โดยที่เราไม่ได้เข้าไปยุ่งหรือสอนอะไรเลย แต่เขาสามารถอ่านและเข้าใจ และทำตามได้ ตรงนี้เองดิฉันรู้สึกได้ทันทีว่าภารกิจของเราได้บรรลุเป้าหมายแล้ว เพราะจากนี้ไปไม่ว่าลูกอยากรู้ หรืออยากทำอะไร เขาสามารถหาความรู้ ขวนขวายทำได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งแม่อีกแล้ว
เสี้ยวเวลาที่ลูกโต้ตอบกลับมาเป็นภาษาไทยได้รู้สึกอย่างไร
ลูกตอบกลับมาเป็นภาษาไทยครั้งแรก เสี้ยววินาทีนั้นก็รู้สึกธรรมดาค่ะ ไม่ได้รู้สึกอะไรพิเศษ เหมือนเราปลูกต้นแอปเปิ้ล มันก็ต้องออกผลเป็นลูกแอปเปิ้ลแน่นอนอยู่แล้ว ดิฉันจึงไม่ได้แปลกใจอะไร แต่ความยินดีปรีดามันเกิดขึ้นหลังจากนั้นค่ะ เพราะเมื่อลูกอายุ 3 ขวบ เริ่มไปเรียนอนุบาลจนถึงจบประถม 4 ตรงจุดนี้ต่างหากที่ดิฉันรู้สึกปลื้มและยินดีมาก เนื่องจากว่าลูกต้องไปอยู่กับสังคมนอกบ้าน สังคมคนเยอรมัน หลายๆ ชั่วโมงต่อวัน เขาต้องพูดแต่ภาษาเยอรมัน พูดตลอด 7 ปี กว่าจะจบชั้นประถมฯ 4 แต่ลูกยังสามารถรักษาภาษาไทยเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ไม่ใช่เพียงแค่นั้น ตลอดเวลา 7 ปีที่ไปโรงเรียน ภาษาไทยของพลอยชมพูมีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นไปมากจนถึงระดับอ่านออกเขียนได้อีกด้วย
ดิฉันรู้ว่าลูกเหนื่อยมากในการเรียนเขียนและอ่าน บางครั้งลูกเรียนไปร้องไห้ไปด้วยก็มี แต่มาวันนี้ครอบครัวเราได้ย้ายกลับมาอยู่ไทยถาวร ลูกบอกว่าดีใจมากที่แม่สอนเขียน-อ่าน หากเลือกได้อยู่แบบสบาย โดยที่แม่ไม่สอนเขียน-อ่าน เขาบอกว่าขอเลือกลำบากเพราะแม่สอนดีกว่า เพราะตอนนี้เขามีความสุขกับการเรียนรู้มากๆ การที่รู้หลายภาษาทำให้ลูกปรับตัวในการใช้ชีวิตในที่ใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
จริงๆ แล้วดิฉันเริ่มคิดวางแผนกลับไทยตอนลูกอายุ 5ขวบ ซึ่งตอนนั้นลูกพูดไทยได้แล้ว และเริ่มเรียนอ่านหนังสือไทยแล้วด้วย ตอนที่เริ่มสอนลูกพูดไทยจนไปถึงอ่าน-เขียนในช่วงแรกนั้นไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะได้มีโอกาสมาใช้ที่เมืองไทยอย่างจริงจัง ความคิดในตอนนั้นคือไม่ว่าลูกอยู่ที่ไหนอย่างไรเขาต้องได้รับการถ่ายทอดความเป็นไทยอย่างเต็มที่แน่นอน แม้จะไม่ได้ย้ายกลับมาเมืองไทย การที่ลูกพูดไทย และอ่านออกเขียนได้อยู่ที่เยอรมนีมันก็ได้เปรียบกว่าคนอื่นในหลายๆ ด้านเช่นกันค่ะ ก็ถือว่าเพิ่มทางเลือกให้กับลูก
พัฒนาการในแต่ละช่วง
พัฒนาการในการพูดภาษาไทยของพลอยชมพู ช่วง 1-3 ปีแรก จะอยู่ในเกณฑ์เดียวกับเด็กไทยทั่วไปค่ะ เพราะอยู่กับแม่ตลอดทั้งวันทั้งคืน หลังจากเข้าอนุบาลภาษาไทยเริ่มเอื่อยๆ ภาษาเยอรมันแซงหน้าไปเพราะไปเข้าสังคมเยอรมันมากขึ้น มีบางช่วงที่ลูกไม่ยอมดูหนังไทยเลย ตอนนั้นก็กลัวภาษาไทยจะหลุดไปเหมือนกัน แต่ก็แก้คืนได้โดยการซื้อหนังการ์ตูนภาคภาษาไทยแบบเอาใจเด็กหญิงมาช่วย แถมด้วยซีดีรอมเรียนภาษาไทยจากการ์ตูนน่ารักๆ หรือแม้กระทั้งเกมส์แต่งชุดให้น้องตาหวานที่ตอบโต้เป็นไทยก็ซื้อมาให้เล่น อันนี้ก็ได้คำศัพท์ใหม่ๆ เพิ่มให้ลูกเหมือนกัน
พอช่วงอายุ 6-8 ขวบ พัฒนาการของภาษาไทยก็ยังไปแบบเรื่อยๆ เนื่องจากดิฉันทำงานส่วนตัว มีเวลาให้ลูกไม่เต็มที่นัก แต่เขาเริ่มอ่านไทยได้นิดหน่อย แต่พอ 9 ขวบเต็ม ก่อนที่เราต้องย้ายกลับไทย 1 ปี ดิฉันเริ่มสอนลูกอ่านและเขียนไทยอย่างเอาจริงเอาจัง จนทำสำเร็จในระดับหนึ่ง
หลังจากย้ายกลับมาอยู่เมืองไทย คืออายุ 10 ขวบเต็ม อยู่ไทยเพียง 4-5 เดือน ช่วงนี้พัฒนาการภาษาไทยของลูกดีขึ้นและรวดเร็วมาก ตอนนี้อ่านหนังสือการ์ตูนเกาหลีความหนา 200 หน้า แบบอ่านรวดเดียวจบภายในเวลาชั่วโมงเศษๆ เขาชอบเขียนไดอารี่ และนิทาน เป็นภาษาไทยได้แล้วโดยมีคำผิดเพี้ยนเล็กน้อย ซึ่งก่อนมาเมืองไทย แม้แต่เขียนเป็นประโยคธรรมดาเขายังเขียนไม่ได้เลย นอกจากเขียนเป็นคำๆ เท่านั้นเอง ปัจจุบันนี้ดิฉันพอใจกับพัฒนาการของลูกมากค่ะ
คิดอย่างไรกับแนวคิดเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้
เป็นแนวคิดที่ดีเยี่ยมมากค่ะ ทันสมัยดี อยากเห็นอีก 10-20 ปี ข้างหน้า เด็กไทยจะมีแต่คนเก่งๆ เพิ่มมากขึ้น การที่ได้รู้หลายภาษาก็เหมือนเพิ่มโอกาสในการหาความรู้ให้กับตนเอง สร้างเด็กสองภาษาเป็นการพัฒนาคน และมีผลกระทบในเชิงบวกในการพัฒนาประเทศอีกด้วย
คนรอบข้างมองอย่างไร เมื่อเห็นเราพูดสองภาษากับลูก แล้วเราทำอย่างไร
ตอนที่อยู่เยอรมนีเราสองคนแม่ลูกจะพูดไทยกันตลอดไม่ว่าจะขึ้นรถลงเรือ ไปไหนก็ตามไม่จำกัดสถานที่ ไม่เคยอายใดๆ เลยค่ะ ยิ่งคนหันมามองยิ่งชอบใจกันทั้งสองแม่ลูก เพราะไม่มีใครเข้าใจภาษาของเราเลย และเราก็ไม่อยากให้ใครรู้ด้วยว่าเราพูดอะไรกัน บางเรื่องก็ลับสุดยอดค่ะ ในสายตาคนที่มองพวกเรานั้น ดิฉันว่าพวกเขาก็ไม่ค่อยคิดอะไรเท่าไร เพราะที่เยอรมนีมีคนต่างชาติ ต่างภาษา อาศัยอยู่เยอะมาก เห็นกันจนชินกว่างั้นเหอะ เราเองก็ไม่รู้สึกว่าจะต้องทำอะไรในสถานการณ์ตรงนั้นเลยค่ะ
ในเรื่องการพูดภาษาไทยกับลูก ดิฉันไม่เว้นแม้แต่บนโต๊ะอาหารที่มีญาติพี่น้องนั่งรายล้อม พูดไทยกับลูกต่อหน้าทุกคนที่เป็นเยอรมัน แม้เหมือนจะไม่มีมารยาทก็ตาม เพราะคนอื่นฟังเราไม่รู้เรื่อง แต่ก็ต้องทำค่ะ เพราะมิเช่นนั้นแล้วมันจะทำให้เสียระบบไปหมด (ในความคิดส่วนตัวของดิฉัน) เมื่อพูดเยอรมันกับลูกเพราะสถานการณ์บังคับบ่อยเข้า ก็จะเหมือนชี้โพรงให้กระรอก ลูกจะเริ่มเปลี่ยนไปในการใช้ภาษากับแม่ เพราะมีตัวเลือกเพิ่ม เขาจะเริ่มไม่พูดไทย เพราะคิดว่าพูดภาษาอะไรกับแม่ก็ได้ทั้งนั้นแหละ เขาจึงเลือกภาษาที่เขาถนัดที่สุดมาใช้ นั่นคือเขาจะเลือกพูดเยอรมันกับแม่แทน เท่าที่ดิฉันจำได้ ลูกไม่เคยพูดกับดิฉันเป็นเยอรมันเลย นอกจากนึกคำศัพท์ไม่ออกอาจจะดึงภาษาเยอรมันมาใช้บ้างในบางกรณีเท่านั้นเองค่ะ
พอย้ายมาอยู่เมืองไทย สามีดิฉันต้องตกที่นั่งเดียวกับดิฉันเมื่อสมัยก่อน และเขาก็มีความรู้สึกและความคิดเช่นเดียวกันกับดิฉัน คือเขาจะพูดเยอรมันกับลูกในทุกสถานการณ์ รวมไปถึงพูดเยอรมันบนโต๊ะอาหารต่อหน้าคนไทยที่นั่งด้วยกัน เขาไม่อาย และไม่จำเป็นต้องทำอะไรใดๆ เลยกับสายตาของคนอื่น
ตอนนี้น้องเป็นเด็กสามภาษา เพิ่มเติมภาษาที่สามอย่างไรบ้างและวิธีการสอน
ภาษาที่สามของพลอยชมพู คือภาษาอังกฤษ ได้ภาษานี้มาตั้งแต่เกิด เพราะพ่อกับแม่คุยกันเป็นภาษาอังกฤษมาโดยตลอด อาจจะมีผิดหรือถูกไปบ้าง สำเนียงแปลกๆ บ้าง เพราะเราสองคนไม่ใช่เจ้าของภาษา แต่ลูกก็ได้ซึมซับภาษาอังกฤษและเริ่มพูดประโยคแรกตอนอายุราวๆ 3 ขวบ ดิฉันงงมากที่ลูกพูดอังกฤษออกมา ดีใจอย่างบอกไม่ถูก เพราะไม่เคยคาดหวังว่าลูกจะพูดภาษานี้เลย
ตอนแรกดิฉันตั้งใจจะเลิกพูดอังกฤษกับสามี แล้วพูดเยอรมันแทน จะได้เก่งเยอรมัน อยู่ประเทศเยอรมนีจะได้เอาตัวรอดได้ดีกว่า แต่พอดิฉันมาเห็นลูกเริ่มพูดอังกฤษก็ต้องเลยตามเลย พูดอังกฤษกับสามีต่อไปค่ะ ภาษาที่สามนี้ พลอยชมพูจะเข้าใจในประโยคง่ายๆ สั้นๆ ในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไปแบบผิวเผินเท่านั้นเอง หลังจากที่เขาเข้าอนุบาลแล้ว ดิฉันก็ไม่เคยได้ยินเขาพูดอังกฤษอีกเลย แต่ในบางเรื่องที่พ่อแม่คุยกัน บ่อยครั้งที่เขาจะแทรกว่า “หนูรู้นะว่าพ่อกับแม่พูดอะไรกัน” เหมือนลูกส่งสัญญาณให้รู้ว่า ถึงเขาไม่พูดอังกฤษให้พ่อแม่ได้ยิน แต่เขากำลังเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากพ่อแม่อยู่นะ
จนกระทั่งพลอยชมพูเรียนอยู่ชั้น ประถม 3 ที่โรงเรียนเริ่มสอนภาษาอังกฤษ ดิฉันชักชวนลูกสนทนาภาษาอังกฤษกันในบางครั้ง เพราะอยากให้เขาพัฒนาภาษาอังกฤษ เหมือนเขาก้าวเข้ามาในภาษานี้แล้ว 1 ก้าว แต่รอนานหลายปีแล้วไม่ยอมก้าวต่อไปสักที แต่ลูกก็ปฏิเสธที่จะพูดภาษาอังกฤษกับดิฉันตลอดมา จนเขาเรียนชั้นประถม 4 ดิฉันจึงเริ่มเห็นลูกพูดอังกฤษให้พ่อแม่ได้ยินในบางครั้ง และมากขึ้น จนยอมสนทนาเป็นอังกฤษด้วยประโยคสั้นๆ ง่ายๆ
ตามที่ดิฉันเข้าใจคือ เหมือนภาษาอังกฤษมันซ่อนอยู่ใต้จิตสำนึกของลูก แต่ด้วยความถี่ ความสม่ำเสมอของภาษาที่ลูกได้รับมันยังไม่มากพอที่ลูกดึงมันออกมาใช้ พอทางโรงเรียนเริ่มสอนภาษาอังกฤษอย่างสม่ำเสมอเหมือนเป็นการกระตุ้นสิ่งที่ซ่อนอยู่ให้มันเผยออกมา พลอยชมพูเรียนภาษาอังกฤษในระดับดีมาก เขาบอกว่า “คุณแม่…ที่โรงเรียนของหนู เรียนภาษาอังกฤษง๊ายง่าย (ทำเสียงสูง)”
เมื่อดิฉันได้ยินที่ลูกบอก ก็เลยเริ่มหาเรื่องยากๆ ให้ลูกทำเพื่อพัฒนาภาษาที่สาม เนื่องจากดิฉันพูดภาษาอังกฤษแบบงูๆ ปลาๆ เก่งซะที่ไหน…ก็ต้องหาตัวช่วยอื่น มาช่วย วิธีพื้นๆ ค่ะ หนังสือนิทานพร้อมซีดี ตั้งแต่เรื่องง่ายๆ ของเด็กเล็ก ไปจนถึงเรื่องยากๆ ของผู้ใหญ่ เรื่องไหนน่าสนใจดิฉันก็ซื้อมาสะสม ลูกจะเปิดซีดีฟังพร้อมอ่านคลอตาม บางเรื่องที่เขาชอบมากก็จะอ่านหลายเที่ยว อ่านจนอ่านเองคนเดียวได้โดยไม่ต้องเปิดซีดี อ่านเรื่องไหนก็ได้สำเนียงเรื่องนั้น เพราะนิทานแต่ละเรื่องบ้างก็อ่านสำเนียงอังกฤษ และบ้างก็อ่านสำเนียงอเมริกัน แต่เวลาพูดอังกฤษจริงๆ ดิฉันคิดว่าลูกพูดอังกฤษสำเนียงไทย มันตลกดีเหมือนกันนะ
คำแนะนำและความคิดเห็นอื่นๆให้กับพ่อแม่ท่านอื่นที่อยากสอนสองภาษา
การสอนให้ลูกเป็นเด็กสองภาษาโดยที่ตนเองไม่ใช่เจ้าของภาษาเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนที่เก่งภาษาอยู่แล้ว อันนี้ก็ถือว่าโชคดี มีความรู้ดีที่จะถ่ายทอดให้ลูกก็มีชัยไปครึ่งทางแล้ว แต่สำหรับคุณพ่อ หรือคุณแม่ที่ไม่เก่งภาษาต้องใช้ความพยายามและความอดทนค่อนข้างมากทีเดียว อยากแนะนำให้หาความรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะที่เว็บไซด์ 2pasa.com ที่ห้องภาษาอังกฤษ สามารถหาคำและประโยคต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้มากมาย และยังมีเพื่อนๆ ใจดีหลายคนที่พร้อมจะช่วยเหลือเรื่องภาษาอังกฤษอีกด้วย
เวลาที่คุณพ่อคุณแม่ท้อแท้ในการสอนลูก ก็สามารถหากำลังใจได้จากเพื่อนๆ ที่เว็บนี้เช่นเดียวกัน รวมทั้งมีหลายครอบครัวที่ประสบความสำเร็จแล้วนำเทคนิคต่างๆ มาแบ่งปัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ดีๆ มากมายเลยทีเดียว และคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังจะสร้างเด็กสองภาษาให้ประสบความสำเร็จได้ไม่ยากค่ะ