“การพูดจากความรู้สึก” นี่คือหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดที่แยกการสอนภาษาอังกฤษตามแนวคิดเด็กสองภาษากับภาษาอังกฤษทั่วๆไป โดยเฉพาะในโรงเรียน เพราะเราไม่แปล ไม่ท่องศัพท์ ไม่ต้องมีสคริปต์ แต่กระบวนการฝึกเราเน้นให้เด็กค่อยๆพูดออกมาจากความรู้สึกภายในเอง ไม่ต่างกับเราที่พูดภาษาไทย โดยไม่ต้องคิดเรื่องไวยากรณ์ ใช้ความรู้สึกล้วนๆ และยังมั่นใจ ทั้งที่ไม่เคยท่องศัพท์ภาษาไทยสักคำ
ที่น่าแปลกใจก็คือ ผมได้นำเสนอแนวคิดเด็กสองภาษา ในเรื่องการพูดจากความรู้สึกมาตั้งแต่ปี 2009 ในหนังสือเด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้ หลังจากนั้นหลายปี ก็มีฝรั่งเนทีฟ นำเสนอเรื่องนี้อย่างบังเอิญทั้งในเวที Ted Talk และเนทีฟที่สอนเรื่องการออกเสียงผ่าน youtube channel ของตัวเอง นั่นก็เป็นการตอกย้ำความมั่นใจว่าแนวทางนี้คือแนวทางที่ยอมรับในระดับสากล
พ่อแม่ที่เพิ่งเข้ามาหรือยังลังเลอยู่กับแนวคิดเด็กสองภาษา ผมอยากให้ฟังสองคลิปด้านล่างนี้อย่างละเอียดครับ
คนไทยทุกคนพูดภาษาไทยด้วยความรู้สึก เราไม่จำเป็นต้องนึกถึงไวยากรณ์ภาษาไทยระหว่างพูด แต่เราพูดได้ถูกต้องตามหลักภาษา คิดกับพูดพุ่งออกไปพร้อมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มาจากกระบวนการเลียนแบบที่เราถูกขัดเกลามาตั้งแต่เล็กจนโต เรารู้สึกดีและมั่นใจเมื่อเราพูดภาษาแม่
แนวคิดเด็กสองภาษาเป็นการจำลองสภาพแวดล้อมให้เด็กเรียนรู้ภาษาที่สองดั่งเช่นภาษาแม่ จุดเริ่มต้นการสื่อสารแต่ละคำ เด็กจะต้องถูกบังคับให้ตีความการสื่อสารด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นเมื่อเราเจอแมว เราได้เห็นแมว เราได้กลิ่น เรามีโอกาสสัมผัสขน เราได้ยินเสียงแมวร้อง จากนั้นแม่ก็สะกิดเราแล้วบอกว่า “ลูก…นั่นแมว!” และด้วยสัญชาติญาณของมนุษย์ เราจะตีความและ “เลียนแบบ” แต่ในช่วงแรกๆนั้น เราอาจจะออกเสียงอักขระไม่ชัดเจน พยางค์ไม่ครบ เราอาจจะออกเสียงแค่ “เมียว” สิ่งที่แม่ได้เห็นและได้ยินแม่พูดก็คือ “ไม่ใช่ลูก…แมว ไหนลองออกเสียงให้ฟังซิ…แมว” ตอนนี้แม่กำลังทำหน้าที่ “ขัดเกลาการเลียนแบบ” คำต่อคำ ประโยคต่อประโยค ไปเรื่อยๆจนทำให้เราพูดได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนี้ก็คือ “ความถี่” ที่พวกเรามีโอกาสได้ฟังและพูดออกมา เมื่อความถี่มากพอ มันก็จะไปสู่สิ่งที่เรียกว่าการพูดจากความรู้สึกขึ้นมา
ดังนั้นการฝึกเด็กพูดจากความรู้สึกนั้น การขัดเกลาการเลียนแบบและความถี่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เด็กพูดออกมาได้จากความรู้สึก แต่ในการเรียนภาษาอังกฤษในระบบไม่มีสิ่งเหล่านี้ หรือมีก็เพียงเล็กน้อย ทำให้เราไม่สามารถที่จะพูดออกมากจากความรู้สึกได้ สิ่งที่ได้ติดตัวมาก็คือ “คิดมากก่อนพูด” นั่นเอง