สังคมไทยโดยส่วนใหญ่เป็นสังคมภาษาเดียว ถึงแม้มีภาษาถิ่นแต่ก็มีความใกล้เคียงกับภาษากลาง พวกเราจึงไม่คุ้นเคยกับการพูดหลายๆภาษาที่มีความแตกต่างกันมากพร้อมกันตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้เรานึกภาพว่าถ้าเด็กต้องรับรู้และพูดมากกว่าหนึ่งภาษาเด็กจะสับสน คำถามข้อนี้ผมไม่ขอตอบเชิงการแพทย์เนื่องจากผมไม่ใช่หมอ แต่ผมอยากจะตอบในเชิงตัวเลขและสังคมมากกว่า
ผมอยากให้นึกถึงประเทศเพื่อนบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย หรือสิงค์โปร์ ประเทศเหล่านี้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ และมีภาษาถิ่นตามเชื้อชาติของตัวเอง เช่นเป็นครอบครัวจีนก็จะพูดจีนในครอบครัว ถ้าเป็นครอบครัวมาเลย์ก็จะพูดมาเลย์ ถ้าเป็นแขกก็จะพูดฮินดีเป็นต้น
ด้วยสภาพแวดล้อมที่มีการพูดมากกว่าหนึ่งภาษา เด็กที่เติบโตมาก็รับรู้และพูดภาษาต่างๆเหล่านั้นเองอย่างเป็นธรรมชาติตั้งแต่เล็กๆ…คำถามก็คือ…เราเคยได้ยินรายงานว่าเด็กในประเทศเหล่านี้เกิดความสับสนในการพูดหลายภาษาหรือเปล่า? …สำหรับผม..ไม่เคยได้ยิน ถ้ามองให้กว้างออกไปอีก ยังมีประเทศที่ต้องพูดสองภาษาหรือมากกว่าอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นฟินแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ ฯลฯ และเราก็ไม่เคยได้ยินรายงานความสับสนของเด็กในประเทศเหล่านี้เลย และถ้าเรามีโอกาสอ่านงานวิจัยที่สรุปมาเป็นบทความหรือข่าวเกี่ยวกับเรื่องสองภาษา เราก็จะเห็นว่าบทความเหล่านั้นสนับสนุนการเรียนรู้มากกว่าหนึ่งภาษา โดยเฉพาะการเรียนรู้ตั้งแต่วัยแบเบาะ
สรุปแล้ว ผมเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความสามารถในการรับรู้และพูดมากกว่าหนึ่งภาษาอยู่แล้ว เด็กไม่สับสน ขอให้สอนเป็นธรรมชาติ เรียนรู้อย่างมีความสุข และจากประสบการณ์การสอนลูกเป็นเด็กสองภาษาของตัวเองตั้งแต่วัยแบเบาะ เด็กไม่สับสนในการพูดสองภาษา และสามารถสลับโหมดการพูดจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่งได้อย่างอัศจรรย์ ดังนั้นอย่ากังวลเรื่องนี้มากไป ถ้าสนใจเรื่องเด็กสองภาษา ให้ศึกษาแนวคิดให้ดีแล้วก็ค่อยๆเริ่มสอนเลยครับ อย่าพลาดช่วงเวลาทองคำของลูกเลย