เขียนไป…ตามใจฉัน ตอน..พูดอังกฤษกับลูกมากไป..ภาษาไทยของลูกอ่อนแอ..จริงหรือ?

Posted by พลอยชมพู on August 19, 2009 at 8:30pm

วันนี้นึกไรไปเรื่อยเปื่อย (อีกแระ) จะเขียนบล็อกแต่ละทีสมองน้อยๆ ต้องทำงานหนักมาก เพราะต้องมาคิดคำตอบที่สมเหตุสมผลที่สุด ซึ่งมันก็ยาวววววววว …..ดังที่คุณกำลังอ่านอยู่นี่แหละค่ะ แต่ไม่รู้ว่ามันจะเก็ทสำหรับเพื่อนๆ รึเปล่า จะเก็บความคิดอยู่ในสมองน้อยๆ คนเดียวคงไม่ดี เอาออกมาให้เพื่อนๆ ได้รู้บ้างก็คงไม่เสียหาย…หากตรงใจก็นำไปใช้ ไม่ตรงใจก็กองไว้ตรงนี้ก็ได้ค่ะ หุ หุ หุ

วันนี้อยากพูดเรื่อง “พูดอังกฤษกับลูกมากไป..ภาษาไทยของลูกอ่อนแอ..จริงหรือ? “

จากประสบการณ์ 9 ปีที่เลี้ยงลูกและสอนภาษาลูกเองทั้ง 3 ภาษา (ช่วยกันสอนกับสามี) จึงอยากนำประสบการณ์จากแนวคิดส่วนตัวมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

ในที่นี้ขอพูดถึง ครอบครัวที่อยู่เมืองไทย พูดถึงภาษาไทย-อังกฤษ เป็นประเด็นหลักเลยละกัน
(สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เก่งภาษาและจัดเวลาสอนภาษาให้ลูกได้อย่างลงตัวและเหมาะสมแล้ว สามารถข้ามบล็อกนี้ไปได้เลยค่ะ)

ปรกติการสื่อสารของครอบครัวคนไทยจะใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก หากคุณพ่อคุณแม่อยากพูดภาษาอังกฤษกับลูก เพื่อลูกจะได้เป็นเด็กสองภาษา มักจะมีปัญหาหนึ่งที่พบเจอบ่อยมาก คือ…

คุณพ่อ ที่มีหน้าที่พูดภาษาอังกฤษมักไม่มีเวลาให้ลูก หรือหากมี ก็มีน้อยกว่าคุณแม่ซึ่งทำหน้าที่พูดภาษาไทย ทำให้คุณพ่อและคุณแม่กังวลว่าเอ…เดี๋ยวภาษาอังกฤษของลูกจะพัฒนาช้าไม่ทันการ ซึ่งจริงๆ มันก็ช้าจริงๆ นะแหละ คงไม่ทันภาษาไทยที่คุณแม่สอนแน่ๆ หลักการแบ่งการสอนภาษาใครภาษามัน พ่อสอนภาษาหนึ่ง แม่สอนภาษาหนึ่ง ควรจะอยู่ในพื้นฐาน(เวลาและโอกาส)เดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน สองภาษาถึงจะเติบโตไปในระดับเท่าๆ กันได้ ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่อยากจะช่วยกันพูดภาษาอังกฤษกับลูก แต่ก็กลัวว่า…ภาษาไทยของลูกจะอ่อนแอ เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่มีใครพูดไทยเลย…

หรือ..บางครอบครัว…อ่อนภาษาอังกฤษทั้งคุณพ่อและคุณแม่ จึงอยากช่วยกันพูดภาษาอังกฤษกับลูกทั้งคู่ ภาษาอังกฤษของลูกจะได้พัฒนาเร็วขึ้น แต่ก็กังวลอีกว่า…ภาษาไทยของลูกจะอ่อนแอ ดิฉันอยากบอกว่า เด็กเกิดและโตในไทย มีสภาพแวดล้อมเป็นไทย โอกาสที่จะอ่อนภาษาไทยนั้น “มี” แต่ “น้อยจนแทบจะไม่เห็นโอกาสนั้นเลย” ค่ะ ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น หากคุณให้ลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติ โอกาสอ่อนภาษาไทยก็มีมาก แต่หากลูกเรียนโรงเรียนธรรมดา หรือสองภาษา เรื่องอ่อนภาษาไทยก็แทบจะไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลยค่ะ

แนวคิดของดิฉัน คือ…

หากครอบครัวใดคุณพ่อมีปัญหาเรื่องเวลาและโอกาสที่จะพูดภาษาอังกฤษกับลูก
…ก็ให้คุณแม่ช่วยพูดภาษาอังกฤษอีกแรง…

หรือคุณพ่อคุณแม่ที่อ่อนภาษาอังกฤษ
ก็ให้คุณพ่อคุณแม่มาช่วยกันพูดภาษาอังกฤษกับลูกทั้งสองคน….สองแรงแข็งขัน…

คุณพ่อคุณแม่พูด “อังกฤษ” กับลูก ใช้เป็นภาษาประจำบ้าน ประจำครอบครัวไปเลย

แต่คุณพ่อคุณแม่ เวลาคุยกันสองคน จะต่อหน้าลูกหรือลับหลังลูก ให้ใช้ “ภาษาไทย” ค่ะ

ลูกจะมีพัฒนาทางภาษาอังกฤษเร็วขึ้น เพราะช่วยกันตั้งสองคน ส่วนภาษาไทยลูกก็ได้ยินจากที่พ่อแม่คุยกันบ้าง ซึ่งตรงนี้อย่ากังวลนะคะ
เพราะลูกจะได้ภาษาไทยจากสภาพแวดล้อม…ช่วยอีกแรง

สภาพแวดล้อมไหนเร๊อะ ????

ลองมองดูรอบๆ ตัวเราสิคะ มีใครบ้างที่เป็นคนไทย และพูดภาษาไทย ..มี..หรือ ไม่มี…เลย

พี่-ป้า-น้า-อา-ปู่-ย่า-ตา-ยาย-เด็กรับใช้-แม่ครัว-เพื่อนบ้าน ฯลฯ คุณมีใครในจำนวนที่ดิฉันกล่าวถึง หรือยกตัวอย่างมาบ้างรึเปล่า…?

หากมีละก็ ไม่ต้องห่วงเรื่องภาษาไทยใดๆ ทั้งสิ้น

ที่น่าห่วงคือ คุณให้ลูกของคุณมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างดังที่กล่าวมาบ้างรึเปล่า? ทำบ่อย หรือมากน้อยเพียงใด?

การพาลูกไปเยี่ยมญาติ หรือให้คุณตา-คุณยายฯลฯ มาเยี่ยมเป็นครั้งคราวสักสัปดาห์ หรือสักเดือน (สลับกันมา)
การไปเดินเล่นพบปะเพื่อนบ้านตามสวนสาธารณะ
การพาลูกไปทำกิจกรรมนอกบ้านต่างๆ
ฯลฯ

และตัวช่วยอีกตัวคือสื่อต่างๆ เช่น ทีวี บ้านเรามีทีวีหลายๆ ช่องเป็นไทยทั้งนั้น ซึ่งใช้เป็นตัวกระตุ้นภาษาไทยในตัวลูกให้พัฒนาได้เป็นอย่างดี

สิ่งเหล่านี้จะช่วยสอนภาษาไทยให้ลูกในวัยก่อนอนุบาลเองค่ะ อยู่ที่คุณพ่อคุณแม่ “ขยัน” ในการนำลูกออกมาเจอสังคมคนไทยมากน้อยแค่ไหน หากทำบ่อยลูกก็ได้รับภาษาไทยมากพอสมควรที่จะสื่อสารเป็นภาษาไทย

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ช่วยกันพูดอังกฤษกับลูกช่วงก่อนวัยอนุบาล ลูกจะเก่งภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทยก็เป็นเรื่องธรรมดา อย่ากังวล พออายุเข้าเกณฑ์อนุบาล ก็ให้ลูกไปเรียนโรงเรียนคนไทยทั่วๆ ไป ไม่จำเป็นต้องนานาชาติ พอถึงตอนนี้ภาษาไทยของลูกจะพัฒนาเร็วมาก อาจจะแซงโค้งภาษาอังกฤษที่พ่อแม่สอน ก็มีความเป็นไปได้สูงมากค่ะ

ที่ดิฉันมีแนวคิดแบบนี้ เพราะดิฉันอยู่เยอรมนี ตั้งแต่ลูกเกิดมา…ดิฉันพูดไทยกับลูกมาตลอด เวลา 24 ชั่วโมงที่มีให้ลูกตั้งแต่เช้าจรดเข้านอน (นอนเตียงเดียวกัน) จนลูกอายุ 3ขวบ ลูกพูดไทยได้มากกว่าภาษาเยอรมัน จนคุณแม่สามีติหนิดิฉันที่พูดไทยมากเกินไป กลัวหลานจะพูดเยอรมันไม่ได้

ดิฉันเลี้ยงลูกคนเดียวมาตลอด มีญาติ(สามี) ก็เหมือนไม่มี คือเราต้องพึ่งตัวเอง ไม่ว่าจะไปไหนจะกระเตงลูกไปด้วย ไม่เอาไปฝากญาติเลี้ยงให้เป็นภาระของพวกเขา คือเราต่างคนต่างมีความเกรงใจกันและกันมาก จะมีพบปะสังสรรค์ในหมู่ญาติเฉพาะวันสำคัญๆ เช่น วันเกิด ดังนั้น ลูกดิฉันไม่มีโอกาสเรียนภาษาเยอรมัน หรือภาษาหลักของคนที่นี่ จากญาติพี่น้องของพ่อเขาเลย

นอกจากนี้ดิฉันมีลูกเลี้ยง 2 คน ซึ่งพวกเขาก็โตแล้ว วันๆ เรามักจะไม่คุยกัน ต่างคนต่างขลุกอยู่ในถ้ำ เอ๊ย ห้อง…เราจะทานข้าวพร้อมกันเฉพาะเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น ทั้งสองเป็นคนเงียบๆ พูดน้อยจนวันๆ ดิฉันนึกว่าอยู่บ้านคนเดียว ไม่เคยได้ยินพวกเขาคุยกันเลยด้วยซ้ำ พวกเขาไม่เคยเลี้ยงน้อง ไม่เคยเล่นด้วยเพราะมันคนละวัยห่างกันกับน้อง 11-14 ปี โอกาสที่ลูกจะได้ภาษาเยอรมันจากพี่ๆ บอกเลยว่า “ไม่มีทาง”

ส่วนสามีดิฉันออกจากบ้านไปทำงานตั้งแต่ตี 5 กลับมาถึงบ้านราว 4โมงเย็น งานของเขาสามารถไปตอนกี่โมงก็ได้ เขาเลือกที่จะไปแต่เช้ามืดเพราะรถไม่ติด กลับเร็วหน่อยจะได้มีเวลาให้ครอบครัว เขาจะมีเวลาช่วงเย็นและวันเสาร์อาทิตย์ ที่จะได้พูดคุยกับลูกบ้าง ลูกได้ภาษาเยอรมันจากพ่อ แต่น้อยกว่าได้ภาษาไทยจากแม่

ดิฉันไม่มีเพื่อนบ้าน คนที่นี่บ้านติดๆ กันเหมือนหมู่บ้านจัดสรรที่ไทยก็จริง แต่เขาอยู่ใครอยู่มัน ทักสวัสดีเมื่อเจอกันเท่านั้นเอง เราเป็นต่างชาติก็ไม่ค่อยกล้าไปเสนอหน้ากับเพื่อนบ้านนัก จะว่าหยิ่งก็ประมาณนั้นแหละ หุ หุ

จากที่ดิฉันเล่าให้ฟัง สภาพแวดล้อมที่ดิฉันเลี้ยงลูกมาตลอด 3 ปี นอกจากพ่อของลูกแล้ว ลูกแทบไม่มีโอกาสเจอคนอื่นที่ใช้เยอรมันเป็นภาษาหลักเลย เรามีชีวิตอยู่แต่ในบ้านกันสองคนแม่ลูก ตอนกลางวันเงียบเหงามากค่ะ

จนกระทั่งลูกอายุ 3 ขวบ วัยอนุบาล จึงส่งลูกไปเรียนเหมือนเด็กๆ คนอื่น 9โมงเช้า-เที่ยง เพียง 3 ชั่วโมงต่อวัน เพียงปีแรกภาษาเยอรมันลูกก็พัฒนาในระดับเท่ากับภาษาไทยเลยทีเดียว

ณ วันนี้ ป.4 แล้วค่ะ ภาษาหลักคือเยอรมันนั้นเกินหน้าเกินตาภาษาไทยไปหลายขุม ทั้งๆ ที่ดิฉันออกตัวก่อนตั้ง 3 ปี คิดดูสิคะดิฉันพูดไทยคนเดียวในบ้าน 3 ปีแรกลูกติดแม่เป็นแตงเม ลูกได้ไทยจากแม่เยอะมาก ส่วนสามีพูดเยอรมันวันละนิดๆ หน่อยเท่านั้นเอง แต่หลังจากเข้าอนุบาล ภาษาเยอรมันของลูกกลับแซงภาษาไทยแบบไม่เห็นฝุ่น…

อะไรละคะ ที่ทำให้ลูกพูดภาษาหลักได้เก่งเพียงนี้???

สภาพแวดล้อม ไงค่ะ คือคำตอบ…

ไม่ว่าเราจะตั้งโปรแกรมภาษาไทยในสมองของลูกมากขนาดไหน แต่ออกไปนอกบ้านลูกมีสังคมของคนเยอรมัน

โรงเรียนเยอรมัน
เพื่อนๆ เยอรมัน
ครูเยอรมัน
แถมรายการทีวีที่ชอบดู ก็ภาษาเยอรมัน อีก แล้วลูกจะอ่อนภาษาเยอรมัน? เป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว
ลูกกลับมีภาษาเยอรมันที่แข็งแรง วิชาภาษาเยอรมันเธอสอบได้เกรดสูงสุดอีกด้วย

ดิฉันยังมานึกเล่นๆ หากสามีพูดไทยได้มันคงวิเศษไปเลย จะได้มาช่วยกันให้ลูกเก่งไทย เท่าๆ กับเก่งเยอรมัน นี่เราคนเดียว ไม่สามารถต้านอิทธิพลของสภาพแวดล้อมได้เลยจริงๆ

แถวบ้านมีชาวต่างชาติตุรกีมาอาศํยอยู่เป็นจำนวนมาก และหลายครัวครอบพูดภาษาเยอรมันแทบไม่ได้ หรือได้ก็ได้น้อย พวกเขาจึงพูดภาษาตุรกีกับลูกๆ พอเด็กๆ ไปโรงเรียน ได้ภาษาเยอรมันโดยอัตโนมัติ เวลามีประชุมผู้ปกครอง ที่ดิฉันเจอมา..แม่ มักนำลูกไปร่วมด้วย เพื่อมาช่วยแปลเยอรมันให้แม่ฟังค่ะ จะเห็นว่าขนาดคนตุรกีที่อยู่เยอรมนี พูดแต่ภาษาตุรกีกับลูกๆ พอลูกโตลูกกลับพูดเยอรมันได้ดี เพราะสิ่งแวดล้อมช่วยนั่นเอง

อยากให้ลองนึกกลับกัน หากคุณอยู่ไทย พูดอังกฤษกับลูกทั้งสองคน ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องภาษาไทยของลูกว่าจะอ่อนแอ ยิ่งเวลาผ่านไปนับจากวัยอนุบาล ลูกต้องออกไปเจอสังคมคนไทยทุกวัน มากขึ้นและมากขึ้น ลูกจะเก่งภาษาไทยแน่นอน โดยเฉพาะเลือกโรงเรียนไทยๆ ให้ลูก เห็นอย่างนี้แล้วเพื่อนๆ คงไม่กังวลว่าลูกจะอ่อนภาษาไทยแล้วใช่มั้ยคะ

หากไม่กังวลแล้ว ดิฉันขอจบเลยดีกว่า อิ อิ (เขียนมาหลายชั่วโมงเลยทีเดียว หุ หุ )
ท้ายนี้ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะพอมีประโยชน์กับเพื่อนๆ บ้าง ไม่มากก็น้อยนะคะ

ใครจะแย้งความคิดนี้ก็ยินดีมากๆ ที่จะได้รับคำแนะนำที่แตกต่าง

ก็เพราะ…ไม่ใช่นักวิเคาระห์หรือนักวิจัย…มักจะ..เขียนไป…ตามใจฉัน แบบนี้จนติดเป็นนิสัยเสียแล้วค่ะ อิ อิ อิ

แม่พลอยชมพู
เขียนเมื่อ 20.ส.ค.2552

โชว์คลิปพลอยชมพูพูดภาษาเยอรมันกับป่าป๊าบ้างค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=kJABnZf09wI&feature=youtu.be