คนในครอบครัวไม่เห็นด้วยในการสร้างเด็กสองภาษา ทำอย่างไรดี?

เป็นเรื่องธรรมดาที่มีคนไม่เห็นด้วย แต่จะน่าเสียดายถ้าไม่เห็นด้วยเพราะเข้าใจแนวคิดนี้ผิด หรือไม่ได้ทำความเข้าใจแนวคิดนี้เลย หลายคนไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าเป็นการยัดเยียดลูกตั้งแต่เล็ก บางกลุ่มไม่เห็นด้วยเพราะกลัวจะทำให้ลูกพูดภาษาอังกฤษเพี้ยน ผมอยากให้คนที่สนใจแนวคิดเด็กสองภาษา ทำความเข้าใจกับคนในครอบครัวเป็นเบื้องต้นก่อนว่า เรากำลังจะสอนภาษาอังกฤษให้กับลูกบนวิถีธรรมชาติ โดยการเล่าให้ฟัง หยิบหนังสือให้อ่าน หรือพามาดูที่เว็บสองภาษาดอทคอม ดูพ่อแม่คนโน้นคนนี้เล่าประสบการณ์การสอนของตัวเอง หรือคลิปวิดีโอผลงานการสอน “ก็เข้าใจอยู่ แต่เราไม่ใช่ฝรั่ง จะทำได้หรือ?” ถ้ายังมีคำสงสัยประมาณนี้ ใช่ครับ! เราไม่ใช่ฝรั่ง แต่เรากำลังจะสร้างสภาพแวดล้อมจำลองขึ้นมา เพื่อเอื้อให้ลูกเรียนรู้คล้ายกับเด็กฝรั่งเรียนรู้ แน่นอนที่สุด มันไม่เหมือนหรอก มันไม่สมบูรณ์แบบหรอก แต่เรากำลังจะเริ่มต้นด้วยความไม่สมบูรณ์แบบ เราพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาไปพร้อมลูก โดยมีหลักการ แนวคิด และเพื่อนร่วมเส้นทางเด็กสองภาษาจำนวนมากที่หมู่บ้านเด็กสองภาษา ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวและเส้นทางที่เรากำลังจะทำ เมื่ออธิบายทุกอย่างแล้วเขายังไม่เห็นด้วย คุณก็มีสองทางเลือกที่จะทำคือ หนึ่ง “เลิกทำ” หรือสอง “เดินทางต่อ” ครับ

เป็นคนไทยแท้ๆ ทำไมไม่พูดภาษาไทย!

นี่ไม่ใช่คำถาม แต่เป็นคำเสียดสีต่อว่าจากคนกลุ่มหนึ่งในสังคม ที่เห็นเราสอนสองภาษาให้กับเด็ก หรือฝึกตัวเองพูดภาษาอังกฤษ สังคมไทยค่อนข้างจะเป็นสังคมที่พูดภาษาเดียว เมื่อเห็นคนพูดภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะคนไทยด้วยกันเองที่พูดภาษาอังกฤษก็จะรู้สึกแปลกๆ จนไปถึงกับต่อว่าหรือพูดเสียดสีว่า “ดัดจริต” ในขณะเดียวกัน เรากลับรู้สึกเป็นปกติมากกับคนที่พูดภาษาไทยคำภาษาอังกฤษคำ จนการพูดแบบนี้กลายเป็นเรื่องทำกันโดยส่วนใหญ่ในสังคม เรื่องอย่างนี้ผมว่าแปลก แต่สังคมเราถือเป็นเรื่องปกติ ผมพยายามจะบอกพ่อแม่ว่า อย่าไปสนใจเรื่องนี้มากนัก เราไม่ได้ดัดจริต เรากำลังฝึกพูดภาษาอังกฤษให้กับลูกและตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติ หลักของแนวคิดเด็กสองภาษา คือต้องพูดภาษาไทยชัดและภาษาอังกฤษดี เมื่อพูดภาษาไทยก็พยายามพูดด้วยคำไทยมากที่สุด ให้ไพเราะ สวยงาม ชัดเจน ไม่พูดปนไทยคำอังกฤษคำ และเมื่อพูดอังกฤษก็ควรพูดให้เสียงเคลียร์ มีจังหวะจะโคนตามลักษณะของภาษาอังกฤษ และนี่คือสิ่งที่ผมอยากให้เห็นกับเด็กสองภาษาครับ

ควรจะเริ่มสอนเด็กอ่านและเขียนเมื่อไหร่ดี

ตามแนวคิดเด็กสองภาษา ไม่เร่งอ่านและเขียนครับ ผมอยากให้เน้นฟังและพูดเป็นหลัก เพื่อสร้างโหมดให้เกิดขึ้นก่อน เมื่อเด็กพูดได้จากความรู้สึกแล้ว ความรู้สึกการพูดจะค้ำการอ่านเอง จากนั้นค่อยมาเติมเรื่องอ่านและเขียนทีหลัง เมื่อเด็กพร้อมในการอ่านและเขียน เด็กจะทำได้ดีและมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วจนน่าทึ่ง ในช่วงสี่ปีแรกของการสอนสองภาษากับลูกผมนั้น ผมแทบจะไม่สอนอ่านให้กับลูกเลย ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปเน้นเรื่องการพูดให้เคลียร์ พูดจากความรู้สึก และเมื่อเด็กพร้อมตอนห้าขวบ ผมก็ค่อยสอนอ่านเริ่มจากการอ่านเป็นคำ สอนผสมเสียงแบบโฟนิกส์ แล้วค่อยๆไปเรื่อยๆ ผมใช้เวลาไม่นานนัก เด็กก็สามารถอ่านได้อย่างรวดเร็ว ออกเสียงได้ดี จนปัจจุบันเพ่ยเพ่ยแปดขวบ ผมได้สอนการอ่านอักษรโฟเนติกส์และการเปิดดิกชันนารีอังกฤษ-อังกฤษในการหาความหมายและเช็คการออกเสียงที่ถูกต้องอีกด้วย และถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้ครอบครัวทุกครอบครัวทำแบบนี้ เพื่อต่อไปเขาจะได้ดูแลภาษาอังกฤษด้วยตัวของเขาเองได้

มีพ่อแม่ที่ลองสอนลูกตามแนวคิดเด็กสองภาษาประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน และมีคนเลิกไปเยอะไหม?

นอกจากทำหนังสือเด็กสองภาษาแล้ว ผมได้เว็บสองภาษาดอทคอมขึ้นมาเพื่อเป็น “จุดเชื่อมต่อระหว่างพ่อแม่” แต่ละครอบครัวให้เป็นเพื่อนร่วมทาง มีพ่อแม่จำนวนมากเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกในเว็บสองภาษา ณ วันที่เขียนหนังสือเล่มนี้สมาชิกก็มีมากกว่า 23,000 ครอบครัว แต่อย่างไรก็ตามยังมีคนอ่านจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้สมัครเข้ามา นั่นก็ทำให้ผมไม่ทราบว่าจริงๆครอบครัวอื่นๆสอนลูกเป็นอย่างไรบ้าง ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน แต่เท่าที่สังเกตในสังคมปัจจุบัน ก็เห็นพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่พูดภาษาอังกฤษกับลูก ผมเชื่อว่าน่าจะได้รับอิทธิพลของแนวคิดเด็กสองภาษา แน่นอนที่สุดเมื่อมีคนเริ่มสอน ก็ย่อมมีคนเลิกสอน กลุ่มพ่อแม่ที่เลิกสอนไปผมจะเสียดายมาก ถ้าเลิกไปโดยไม่ได้ศึกษาแนวคิดเด็กสองภาษาอย่างดีพอโดยทำผิดแนวทาง ทำให้เด็กไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการสอน พ่อแม่ก็ท้อและเลิกไปในที่สุด จริงๆแล้วผมพยายามออกแบบแนวคิดเด็กสองภาษาให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ถ้าพ่อแม่มีเวลาน้อยและไม่พร้อม ผมก็แนะนำเลือกระบบฝึกให้เหมาะสม ให้ทำน้อยที่สุดที่ยังรักษาคุณภาพเอาไว้ เช่นให้เน้นพื้นฐานการออกเสียงเป็นหลัก เพียงแค่นี้เด็กก็จะมีรากฐานของเด็กสองภาษาที่ดี แต่อาจจะไม่สามารถไปถึงปลายทางเป็นเด็กสองภาษาได้ ซึ่งก็ต้องทำใจตามเงื่อนไขของครอบครัวแต่ละคนครับ ส่วนครอบครัวที่ทำแล้วประสบความสำเร็จก็มีเยอะ บางคนก็โพสคลิปวิดีโอให้ดู บางครอบครัวก็แค่เล่าประสบการณ์ผ่านบล็อกในเว็บ รวมไปถึงครอบครัวที่ไม่ได้ใส่ข้อมูลผ่านเว็บเลย เพียงแต่ผมได้มีโอกาสเจอและพูดคุยเท่านั้น ถ้าคุณศึกษาแนวคิดเด็กสองภาษาดีๆ คุณจะพบว่าแนวคิดนี้เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นเหตุและผล และอยู่บนวิถีธรรมชาติ ไม่ได้มีอะไรลึกลับ เมื่อสอนถูกหลัก ผลย่อมออกมาตามหลักที่อธิบายอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ต้องลังเลครับ ลองสอนได้เลยให้พิสูจน์ด้วยตัวคุณเอง ดูผลผลิตบางส่วนของแนวคิดเด็กสองภาษา https://www.2pasa.com/dek/

เราต้องสอนสองภาษากับลูกไปจนถึงเมื่อไหร่?

เมื่อคุณสอนภาษากับเด็กไปสักพักคุณจะทราบว่าเด็กจดจำได้รวดเร็วอย่างน่าทึ่ง และก็ลืมได้อย่างรวดเร็วจนน่าใจหายเหมือนกัน พ่อแม่ที่พาลูกไปอยู่ต่างประเทศตอนเล็กๆ ทั้งที่เด็กพูดไทยได้คล่องแล้ว แต่เมื่ออยู่เมืองนอกนานๆแล้วพ่อแม่ไม่ได้พูดไทยกับลูกอีก เมื่อเด็กโตขึ้นมา เด็กจำนวนมาก ไม่สามารถพูดไทยได้และก็ฟังไม่ออก ดังนั้นผมแนะนำให้สอนสองภาษาไปเรื่อยๆจนกว่าเด็กจะดูแลภาษาของตัวเองได้ ซึ่งอาจจะเป็นสิบขวบ สิบสอง หรือมากกว่านั้น ก็ขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะของเด็กแต่ละคน แต่ถ้าการสอนสองภาษายังเป็นเรื่องที่สนุกและความสุขในครอบครัว ก็อย่าเพิ่งเลิกไปเลยครับ แต่อาจจะลดความเข้มข้นลง พูดภาษาไทยมากขึ้นหน่อย เลือกระบบหนึ่งเวลาหนึ่งภาษา ผมว่าก็เป็นสิ่งที่ดี และถือว่าเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของครอบครัว และเป็นการตรวจสอบคุณภาพการพูดภาษาที่สองของลูกอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

อยากสอนภาษาที่สามให้กับลูกด้วย จะเริ่มอย่างไรดี?

มีพ่อแม่หลายครอบครัวที่สอนสองภาษาไปสักพัก แล้วอยากจะสอนภาษาที่สามไปด้วย คำถามนี้เจอบ่อยๆเมื่อผมจัดเวิร์กช็อปเด็กสองภาษา คำตอบ…ผมอยากจะบอกว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่เด็ก แต่อยู่ที่พ่อแม่ที่จะสอนภาษาที่สามต่างหาก ผมไม่เห็นด้วยถ้าภาษาที่สองยังไม่แข็งแรง แล้วพ่อแม่จะเริ่มภาษาที่สามเข้าไป เพราะว่ามันจะเป็นตัวแบ่งความถี่ภาษาที่สองกับเด็ก ทำไปทำมาอาจจะไม่ดีสักภาษาเลยก็ได้ แต่ในกรณีที่มีคนพูดภาษาที่สามอยู่แล้ว ก็เริ่มได้เลยครับ แต่ขอให้ศึกษาวิธีการสอนตามแนวคิดเด็กสองภาษาด้วย พยายามให้เด็กพูดภาษาที่สองและสามจากความรู้สึก หลักการสอนเป็นแบบเดียวกัน แตกต่างเฉพาะภาษาเท่านั้น

ลูกเกิดและเติบโตต่างประเทศ จะทำอย่างไรให้พูดไทยได้?

มีพ่อแม่ที่ย้ายไปอยู่ต่างประเทศจำนวนมากที่มีลูกเกิดและเติบโตที่นั่น เด็กบางคนก็เกิดและโตที่ไทย แต่เมื่อย้ายไปอยู่ต่างประเทศนานๆและไม่ได้ใช้ภาษาไทย ไม่น่าเชื่อว่าเด็กก็จะลืมและพูดไม่ได้ ทั้งที่พูดได้เจื้อยแจ้วตั้งแต่เล็ก เด็กอีกส่วนหนึ่งอาจจะพูดไทยได้บ้าง แต่จะพูดไม่ชัด นั่นก็แสดงให้เห็นว่าถึงแม้มีเนทีฟสปีกเกอร์ อย่างแม่ที่เป็นคนไทยก็ยังไม่สามารถทำให้ลูกพูดได้ชัด หรือพูดไทยได้ ถ้าเขาไม่เข้าใจหลักในการสอน แต่สิ่งที่พวกเรากำลังอยู่นั่นตรงกันข้ามเลย เพราะว่าเราไม่ใช่เนทีฟสปีกเกอร์ แต่พวกเราพยายามจะให้ลูกพูดได้สองภาษา และภาษาที่สองจะต้องพูดได้เคลียร์อย่างมีคุณภาพด้วย ดังนั้นพ่อแม่คนไทยถ้าต้องการให้ลูกที่ไปเติบโตในต่างประเทศและยังคงพูดไทยได้ดี พ่อแม่ต้องเข้าใจหลักในการสอนครับ แนวคิดเด็กสองภาษา สามารถเอามาประยุกต์ได้กับกรณีนี้เช่นกัน เช่นจะต้องไม่มีการแปล พ่อแม่ต้องขัดเกลาการเลียนแบบทุกครั้ง จนกว่าเสียงจะชัดเจน ระบบที่ใช้ควรจะเป็นหนึ่งคนหนึ่งภาษา นั่นก็คือพ่อหรือแม่คุยภาษาไทยกับลูกอย่างเดียว กรณีศึกษาในการสอนให้ลูกที่เติบโตในต่างประเทศแล้วยังพูดไทยได้ชัดเจนที่น่าสนใจก็คือ “กรณีของน้องพลอยชมพู” คุณแม่น้องพลอยชมพู ถึงแม้ว่าจะมารู้จักแนวคิดเด็กสองภาษาทีหลัง แต่ก็สอนได้สอดคล้องกับแนวคิดเด็กสองภาษาเป็นอย่างมาก ตอนนี้น้องพลอยชมพูย้ายกลับมาอยู่เมืองไทยแล้ว น้องก็สามารถพูดไทยได้ชัด และอ่านเขียนไทยได้เป็นอย่างดี ท่านที่สนใจเรื่องนี้ ลองอ่านบล็อกของแม่น้องพลอยชมพูที่เว็บ 2pasa.com บล็อกบันทึกเรื่องราวครอบครัวที่อยู่ต่างประเทศ

ญาติผู้ใหญ่ หรือคนในบ้านอยากพูดอังกฤษกับลูกด้วย แต่สอนไปแปลไป ทำอย่างไรดี?

มีอยู่สองทางเลือกครับ…หนึ่งให้ญาติผู้ใหญ่ หรือคนในบ้านทำความเข้าใจแนวคิดเด็กสองภาษา และสอนตามแนวทางที่ว่าไว้ โดยเฉพาะเรื่องการฝึกออกเสียง ถ้าทำได้ดี ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มความถี่ในการสอนเป็นอย่างมาก แต่ถ้าผู้ใหญ่ไม่สนใจที่จะฝึก และยังสอนแบบแปล แถมคุณภาพเสียงยังไม่ดีพอ ผมว่าต้องนั่งคุยกันว่าสอนแบบนั้นจะทำให้เด็กเป็นเด็กสองภาษาไม่ได้ การสอนแบบนั้นจะทำให้ติดลบ ผมแนะนำให้พูดไทยอย่างเดียว แล้วพ่อแม่เป็นคนสอนเองตามแนวคิดจะดีกว่าครับ

สื่อการสอนภาษาอังกฤษที่มีในท้องตลาดใช้สอนลูกได้ไหม?

สื่อการสอนในตลาดบ้านเราเกือบทั้งหมดเท่าที่ผมเห็นไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ซีดี ดีวีดี จะแปลไทย คำต่อคำ ประโยคต่อประโยค และเทียบการออกเสียงด้วยตัวอักษรไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะหล่อหลอมให้เรา “พูดภาษาอังกฤษตามหลักภาษาไทย” สิ่งเหล่านี้ ไม่สอดคล้องกับแนวคิดเด็กสองภาษา แนวคิดเด็กสองภาษาจะต้องไม่มีการแปล จะต้องเน้นการสร้างโหมดภาษาที่สองให้เกิด การออกเสียงจะต้องใช้ตัวกำกับการออกเสียงมาตรฐานสากลที่เรียกว่า “โฟเนติกส์” สื่อการสอนตามแนวคิดเด็กสองภาษาที่ดีนั้นมีข้อพิจารณาหลายข้อ แต่ข้อแรก ควรเป็นสื่อที่เด็กฝรั่งดู เด็กฝรั่งดูอย่างไร เด็กไทยก็ดูอย่างนั้น ยกตัวอย่างดีวีดีเทพที่ผมแนะนำในหนังสือเด็กสองภาษาเล่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น Caillou, Kipper, Wonder pets, Blue Clues, Baby Einstein, Little Einstein หรือ Mommy and Me สื่อดีวีดีเหล่านี้ก็ยังเป็นสื่อที่ดีและสอดคล้องกับแนวคิดเด็กสองภาษาครับ ถ้าคุณสนใจเรื่องเลือกซื้อสื่อการสอนสอดคล้องกับแนวคิดเด็กสองภาษา ติดตามได้ในเว็บ www.2pasa.com ครับ

สอนเด็กไปสักพัก เด็กยังพูดภาษาอังกฤษบางคำไม่ชัด ต้องทำอย่างไร?

สำหรับเด็กเล็กไม่เกินสามขวบ การพูดคำไม่ชัดนับว่าเป็นเรื่องปกติ และนี่ถือว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการพูดจากความรู้สึก เพราะการเลียนแบบในครั้งแรกๆนั้นยังไม่สมบูรณ์หรอก ดังนั้นพ่อแม่ต้องเข้าใจตรงจุดนี้ และต้องขัดเกลาการเลียนแบบไปเรื่อยๆจนกว่าลูกจะพูดคำนั้นเคลียร์เพียงพอ พ่อแม่ไม่ต้องกังวลใจมากไปและไม่ต้องไปกดดันเด็กในกรณีที่ยังออกเสียงไม่ได้ บ่อยครั้งที่ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าเด็กจะเลียนแบบได้ดี ซึ่งว่าไปแล้วก็คงไม่ต่างกับการพูดภาษาไทย เด็กจำนวนไม่น้อยกว่าจะพูดเสียง ส. เสือ ได้ชัดต้องโตจนถึงสี่ขวบทีเดียว

1 11 12 13 14 15 40