ญาติผู้ใหญ่ หรือคนในบ้านอยากพูดอังกฤษกับลูกด้วย แต่สอนไปแปลไป ทำอย่างไรดี?

มีอยู่สองทางเลือกครับ…หนึ่งให้ญาติผู้ใหญ่ หรือคนในบ้านทำความเข้าใจแนวคิดเด็กสองภาษา และสอนตามแนวทางที่ว่าไว้ โดยเฉพาะเรื่องการฝึกออกเสียง ถ้าทำได้ดี ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มความถี่ในการสอนเป็นอย่างมาก แต่ถ้าผู้ใหญ่ไม่สนใจที่จะฝึก และยังสอนแบบแปล แถมคุณภาพเสียงยังไม่ดีพอ ผมว่าต้องนั่งคุยกันว่าสอนแบบนั้นจะทำให้เด็กเป็นเด็กสองภาษาไม่ได้ การสอนแบบนั้นจะทำให้ติดลบ ผมแนะนำให้พูดไทยอย่างเดียว แล้วพ่อแม่เป็นคนสอนเองตามแนวคิดจะดีกว่าครับ

สื่อการสอนภาษาอังกฤษที่มีในท้องตลาดใช้สอนลูกได้ไหม?

สื่อการสอนในตลาดบ้านเราเกือบทั้งหมดเท่าที่ผมเห็นไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ซีดี ดีวีดี จะแปลไทย คำต่อคำ ประโยคต่อประโยค และเทียบการออกเสียงด้วยตัวอักษรไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะหล่อหลอมให้เรา “พูดภาษาอังกฤษตามหลักภาษาไทย” สิ่งเหล่านี้ ไม่สอดคล้องกับแนวคิดเด็กสองภาษา แนวคิดเด็กสองภาษาจะต้องไม่มีการแปล จะต้องเน้นการสร้างโหมดภาษาที่สองให้เกิด การออกเสียงจะต้องใช้ตัวกำกับการออกเสียงมาตรฐานสากลที่เรียกว่า “โฟเนติกส์” สื่อการสอนตามแนวคิดเด็กสองภาษาที่ดีนั้นมีข้อพิจารณาหลายข้อ แต่ข้อแรก ควรเป็นสื่อที่เด็กฝรั่งดู เด็กฝรั่งดูอย่างไร เด็กไทยก็ดูอย่างนั้น ยกตัวอย่างดีวีดีเทพที่ผมแนะนำในหนังสือเด็กสองภาษาเล่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น Caillou, Kipper, Wonder pets, Blue Clues, Baby Einstein, Little Einstein หรือ Mommy and Me สื่อดีวีดีเหล่านี้ก็ยังเป็นสื่อที่ดีและสอดคล้องกับแนวคิดเด็กสองภาษาครับ ถ้าคุณสนใจเรื่องเลือกซื้อสื่อการสอนสอดคล้องกับแนวคิดเด็กสองภาษา ติดตามได้ในเว็บ www.2pasa.com ครับ

สอนเด็กไปสักพัก เด็กยังพูดภาษาอังกฤษบางคำไม่ชัด ต้องทำอย่างไร?

สำหรับเด็กเล็กไม่เกินสามขวบ การพูดคำไม่ชัดนับว่าเป็นเรื่องปกติ และนี่ถือว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการพูดจากความรู้สึก เพราะการเลียนแบบในครั้งแรกๆนั้นยังไม่สมบูรณ์หรอก ดังนั้นพ่อแม่ต้องเข้าใจตรงจุดนี้ และต้องขัดเกลาการเลียนแบบไปเรื่อยๆจนกว่าลูกจะพูดคำนั้นเคลียร์เพียงพอ พ่อแม่ไม่ต้องกังวลใจมากไปและไม่ต้องไปกดดันเด็กในกรณีที่ยังออกเสียงไม่ได้ บ่อยครั้งที่ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าเด็กจะเลียนแบบได้ดี ซึ่งว่าไปแล้วก็คงไม่ต่างกับการพูดภาษาไทย เด็กจำนวนไม่น้อยกว่าจะพูดเสียง ส. เสือ ได้ชัดต้องโตจนถึงสี่ขวบทีเดียว

เวลาพูดอังกฤษกับลูก ลูกถามว่าแปลว่าอะไรตลอดหรือไม่ก็แปลให้ฟัง ตัวอย่างเช่นเมื่อพ่อแม่พูดว่า The bird is flying in the sky. ลูกก็ตอบว่า…อ๋อ..นกหรือแม่?

อาการแบบนี้แสดงว่าลูกคุณเริ่มติดการแปลแล้ว ซึ่งมาจากผลของการสอน “เอ แอ๊นท์ มด” ในโรงเรียน…หรือไม่พ่อแม่ที่ไม่เข้าใจแนวคิดเด็กสองภาษา ก็สอนลูกพูดอังกฤษไปแปลไป และอีกส่วนหนึ่งก็มาจากสอนที่มากเกินไป “ไม่ส่งผ่านรอยต่อให้แข็งแรง” ตามหลักข้อที่หกของแนวคิดเด็กสองภาษา พ่อแม่เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้ คำแนะนำข้อแรกก็คือ “อย่าใจร้อน” ให้ถอยกลับไปตั้งหลัก แล้วเริ่มต้นด้วยการพูดเป็นคำ ไม่มีการแปล เพื่อบังคับให้เด็กตีความด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าในการสร้างโหมดภาษาที่สองขึ้นมาก่อน เมื่อเด็กแปลอีก ก็ให้ใช้ภาษาท่าทางแล้วให้เด็กเลียนแบบเสียง แล้วพ่อแม่ต้องทำหน้าที่ขัดเกลาการเลียนแบบ บังคับให้อยู่ในโหมดภาษาที่สองให้ได้ ให้ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆด้วยความถี่ เด็กจะค่อยๆเรียนรู้และแปลน้อยลงเรื่อยๆ จนไม่แปลในที่สุด

เด็กภาษาสองชั้นคืออะไร?

คำนี้เป็นคำที่ผมตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นการเปรียบเทียบจุดที่แตกต่างระหว่างการฝึกให้เป็นเด็กสองภาษากับเด็กภาษาสองชั้น สำหรับท่านที่ยังไม่ได้อ่านหนังสือเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ ผมจะสรุปให้อ่านอีกครั้งครับเด็กสองภาษา…คือเด็กที่พูดสองภาษาจากความรู้สึกทั้งสองโหมด อยู่ในโหมดไทยก็พูดไทยด้วยความรู้สึก ไม่ต้องคิดมาก คิดกับพูดพุ่งออกมาพร้อมกัน ซึ่งคนไทยทุกคนเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว และถ้าพูดภาษาอังกฤษก็พูดภาษาอังกฤษด้วยความรู้สึก ไม่ต้องคิดมาก คิดกับพูดพุ่งออกมาพร้อมกัน ส่วนเด็กภาษาสองชั้น…คือเด็กที่เรียนมาแบบแปล เน้นท่องจำไวยากรณ์ เมื่อพูดภาษาอังกฤษก็จะสร้างชั้นการแปลขึ้นมา ยืนคิดตรวจสอบไวยากรณ์ในหัว ว่าสิ่งที่จะพูดนั้นถูกต้องตามหลักไวยากรณ์แล้วหรือยัง การคิดมากก่อนพูดอย่างนี้ทำให้ทุกคนที่เป็นเด็กภาษาสองชั้นเกิดความกลัวผิดที่จะพูด แล้วจะไม่พูดในที่สุด ผมและพวกเราโดยส่วนใหญ่ถูกหล่อหลอมให้เป็นเด็กภาษาสองชั้น เล่นมามากมายนานนับสิบปี แต่เวลาจะพูดประโยคง่ายๆสักประโยค นึกไม่ออก คิดมาก กลัวผิด นี่แหละคือผลผลิตที่เรียกว่า “เด็กภาษาสองชั้น” ผมไม่อยากให้เด็กไทยเป็นเด็กภาษาสองชั้นแบบเราที่ผ่านมา แนวคิดเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้จึงเกิดขึ้นมา

เมื่อเด็กไปโรงเรียน โรงเรียนยังสอนแบบท่องจำ และให้แปล จะทำอย่างไรดี?

ต้องทำ “สองทำ” ครับ…อันดับที่หนึ่งต้อง “ทำใจ” เพราะโรงเรียนคงไม่เปลี่ยนวิธีการสอนง่ายๆ คงจะอีกนานล่ะครับ ข้อที่สองต้อง “ทำเอง” นั่นก็คือการสอนอย่างที่เราทำ ดังนั้นเราต้องรักษาสมดุลที่เกิดขึ้นระหว่างการสอนของโรงเรียนกับการสอนแบบสองภาษา ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ความถี่ของโรงเรียนอาจจะกลืน..และเปลี่ยนเด็กได้ หลักข้อที่หนึ่งซึ่งเป็นหลักในการสอนตามแนวคิดเด็กสองภาษาที่สำคัญมากที่สุด คือ “ไม่แปล” เพื่อเป็นการบังคับให้เด็กตีความและสร้างโหมดภาษาที่สองให้เกิด แต่โรงเรียนสอนแบบแปล สิ่งนี้จะทำลายการสร้างโหมดและเด็กจะติดการแปล กลายเป็นเด็กภาษาสองชั้น ไม่ใช่เด็กสองภาษา พ่อแม่จะต้องต่อสู้ด้วยความถี่และศรัทธา ถ้าความถี่ของโรงเรียนมากกว่าหรือเด็กเชื่อครูมากกว่าพ่อแม่ เด็กจะถูกกลืนกินกลายเป็นเด็กภาษาสองชั้นในที่สุด มีครอบครัวสองภาษาหลายครอบครัวใช้วิธีประนีประนอมกับโรงเรียน เช่นครอบครัวแม่น้องเนย ที่ต้องทำใจกับการสอนแบบโรงเรียน แต่เมื่อกลับมาบ้านก็สอนแบบสองภาษา และก็บอกเด็กว่า ไม่ควรทำอะไรบ้าง เช่นไม่ต้องแปล ให้พูดไปเลย ให้ออกเสียงให้ถูกต้องเมื่อคุยกับแม่ แต่อาจจะต้องออกเสียงสำเนียงไทยตามที่โรงเรียนสอนด้วย

ชอบแนวความคิดเด็กสองภาษา และอยากให้โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษตามแนวคิดนี้ เป็นไปได้หรือเปล่า?

ผมเองก็อยากให้ผู้บริหารโรงเรียนลงมาศึกษาแนวคิดนี้อย่างจริงจัง สี่ห้าปีที่ผ่านมาแนวความคิดเด็กสองภาษา กระจายสู่สังคมไปเป็นวงกว้าง จนคำว่าเด็กสองภาษากลายเป็นคำฮิตติดปากในการสอนภาษาอังกฤษสำหรับเด็กไป แต่ที่ผ่านมามีครูไม่กี่คนเท่านั้นที่มาศึกษาแนวคิด เอาหนังสือไปอ่านและมาเข้าเวิร์กช็อป เพื่อเอาสิ่งนี้ไปปรับใช้ในการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียน ดังนั้นโรงเรียนเกือบทั้งหมดก็ยังคงสอนแบบเดิมๆที่เคยผ่านมา คำถามแบบนี้ก็มักจะผุดขึ้นมาในการบรรยายเวิร์กช็อปแต่ละครั้ง และผมก็ต้องบอกพ่อแม่ทุกคนว่า เราคงจะเปลี่ยนวิธีคิดของโรงเรียนได้ลำบาก ไม่รู้ต้องรอไปนานแค่ไหน ดังนั้นพ่อแม่จำเป็นต้องดูแลและฝึกลูกด้วยตัวเราเอง อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังมีความหวังอยู่ และผมเชื่อว่าความหวังนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีกลุ่มพ่อแม่จำนวนหนึ่งที่รวมกันเรียกร้องให้โรงเรียนปรับเปลี่ยนวิธีสอน เราต้องรวมพลังกันครับ ส่วนตัวผมเองนั้นมีโอกาสได้ไปเสนอแนวคิดเด็กสองภาษาให้กับรัฐมนตรีช่วย (สมัยนั้น) ท่านสนใจมาก แต่ท้ายสุดเรื่องก็ไม่ได้เดินต่อ และก็เปลี่ยนรัฐมนตรี เปลี่ยนไปเป็นเรื่องอื่น ดังนั้น ผมคิดว่าอย่าไปฝากความหวังอะไรกับระบบโรงเรียนมากมาย ให้เริ่มต้นจากตัวเราดีที่สุดครับ

เลือกโรงเรียนให้ลูกอย่างไรดี ต้องเป็นสองภาษาไหมคะ?

การเลือกโรงเรียนนั้นมีเรื่องที่ต้องนำมาคิดเยอะ และผมเชื่อว่าพ่อแม่จำนวนมากมีหลักการเลือกโรงเรียนอยู่ในใจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงของโรงเรียนที่ดูดีมีระดับ สถิติของนักเรียนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สูง แนวทางการสอนของโรงเรียน และเหตุผลอื่นๆอีกมากมาย แต่ถ้าพ่อแม่จะพิจารณาเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการสอนภาษาอังกฤษ ผมพอจะสรุปประเด็นหลักๆดังนี้ครับ โรงเรียนไทย…เท่าที่เห็นมา ก็ยังยึดแนวทางการสอนแบบเดิมอยู่ สอนแบบแปล สอนไปเพื่อสอบ ไม่เน้นฟังพูด เน้นอ่านเขียน ค่าเทอมไม่แพง ส่วนค่าแปะเจี๊ยะก็ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของโรงเรียน โรงเรียนสองภาษา…มีฝรั่งเป็นคนสอนบางส่วน เวลาที่เหลือก็เป็นครูไทย ใช้หลักสูตรไทยเป็นหลัก ค่าเทอมจะแพงกว่าโรงเรียนไทยพอสมควร ถึงแม้จะเก็บค่าเทอมแพง แต่โรงเรียนสองภาษาก็ยังประสบปัญหาการหาครูฝรั่งที่มีคุณภาพมาสอน เพราะงบจ่ายให้กับครูฝรั่งนั้นยังไม่เยอะมากพอที่จะจ้างฝรั่งคุณภาพได้ ทำให้โรงเรียนจำนวนมาก นำฝรั่งที่สอนไม่เป็นมาสอน และฝรั่งพวกนี้จำนวนไม่น้อยมาทำงานสอนเพียงชั่วคราว เพื่อจะเดินทางท่องเที่ยวต่อ ถ้าโรงเรียนไหนที่ได้ครูฝรั่งที่ดีก็โชคดีไป ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจที่ครูฝรั่งสอนไป และมีครูไทยมาแปลให้ เด็กก็ยังคงเสพติดการแปลอยู่ และจะพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ สำหรับโรงเรียนอินเตอร์…ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีมากขึ้นกว่าในอดีตพอสมควร แต่โรงเรียนอินเตอร์ก็มีค่าเทอมที่แพงมาก หลักสูตรจะใช้ของต่างประเทศเป็นหลัก รวมถึงวันเวลาในการปิดภาคเรียนที่แตกต่างจากโรงเรียนไทย แน่นอนที่สุดโรงเรียนอินเตอร์ไม่มีการแปล ปริมาณความถี่การใช้ภาษาอังกฤษที่รายล้อม ก็ทำให้เด็กมีโอกาสฝึกในการฟังและพูดมากขึ้น แต่สิ่งที่ผู้ปกครองมักไม่รู้เกี่ยวกับโรงเรียนอินเตอร์ก็คือ นักเรียนไทยในโรงเรียนอินเตอร์ปัจจุบันมีมากจนเกือบจะทั้งห้อง ถึงแม้ว่าโรงเรียนจะจัดหาครูฝรั่งที่มีคุณภาพมาสอนได้ดีกว่าโรงเรียนปกติ แต่โรงเรียนก็ไม่ได้เน้นการออกเสียงภาษาอังกฤษที่ดีมากนัก เพราะแค่เนื้อหาวิชาการที่มีอยู่ ครูก็สอนแทบไม่ทันอยู่แล้ว ดังนั้นคุณจะเห็นนักเรียนไทยในโรงเรียนเหล่านี้พูดภาษาอังกฤษสำเนียงไทยอยู่เป็นจำนวนมาก เด็กจำนวนไม่น้อยเมื่อเลิกเรียนก็จับกลุ่มคุยแต่ภาษาไทยในโรงเรียน ดังนั้นสรุปแล้วทุกโรงเรียนมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ผมอยากให้พ่อแม่เลือกโรงเรียนตามเงื่อนไขและกำลังของครอบครัวเป็นหลัก อย่างไรเราก็ต้องดูแลและสอนเขาเองจากครอบครัวอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพการออกเสียงและการพูดจากความรู้สึก และผมอยากจะให้มีคุณสมบัติข้อหนึ่งที่อยู่ในใจก่อนเลือกโรงเรียนด้วย นั่นก็คือ “ใกล้บ้าน” ครับ

มีลูกสองคน คนโตและคนเล็ก จะเริ่มสอนใครก่อนและสอนอย่างไรดี?

คำแนะนำ…ให้สอนคนเล็กก่อนครับและโฟกัสที่คนนี้เป็นจุดเริ่มต้น เพราะสอนได้ง่ายกว่า แรงต่อต้านมีน้อย เมื่อคุณเริ่มสอนคนเล็ก คนโตจะมองด้วยความสนใจว่า ทำไมพ่อแม่ถึงใส่ใจเรื่องสอนภาษาให้น้อง เมื่อเด็กโตเริ่มสนใจก็ดึงเขาเข้ามาร่วมในการฝึก และพยายามสร้างทัศนคติให้พี่ช่วยสอนน้อง โดยการพูดภาษาอังกฤษกับน้อง จะเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณความถี่ได้มาก แต่ถ้าเหตุการณ์แตกต่างไปจากนี้ โดยพี่ไม่สนใจเลย คุณอาจจะต้องตัดสินใจเลือกโฟกัสไปที่คนใดคนหนึ่งครับ หรืออีกกรณีหนึ่งคือพี่มีความสนใจ ส่วนน้องดื้อ อย่างนี้ก็ต้องเริ่มฝึกจากพี่ และสร้างทัศนคติให้พี่ไปคุยกับน้องเป็นภาษาอังกฤษ และสอนน้องด้วยครับ

ลูกไม่พูดหรือพูดช้า เกี่ยวกับการสองภาษาหรือเปล่า?

ผมมีโอกาสได้อ่านงานวิจัย บทความเกี่ยวกับเด็กสองภาษาในต่างประเทศอยู่จำนวนไม่น้อย ผมยังไม่เคยเห็นว่ามีรายงานเด็กพูดช้าเพราะเกี่ยวกับการสอนสองภาษา ส่วนใหญ่จะเป็นรายงานว่าคนที่พูดสองภาษานั้น จะช่วยกระตุ้นสมองทำงานดีกว่าการพูดภาษาเดียวมากกว่า บางงานวิจัยไปถึงขั้นว่าพูดสองภาษาจะทำให้อายุยืนกว่าพูดภาษาเดียวเสียด้วยซ้ำ ในเรื่องทำนองนี้ ถ้าเด็กจะพูดช้าต่อให้สอนภาษาเดียวก็จะพูดช้า ดังนั้นจะขึ้นอยู่เงื่อนไขของเด็กแต่ละคน ในกรณีลูกผม เพ่ยเพ่ยผมสอนสองภาษาตั้งแต่เกิด ปรากฏว่าเพ่ยเพ่ยสามารถพูดได้ทั้งสองภาษาอย่างรวดเร็ว เร็วกว่าและชัดกว่าลูกพี่ลูกน้องที่คลานตามกันมาและพูดไทยเพียงอย่างเดียวเสียอีก

1 2 3 4 5 7