เด็กต่อต้าน ไม่ยอมพูดและเดินหนี ทำอย่างไรดี?

อันดับแรกต้องแยกก่อนว่าเหตุการณ์นี้เกิดกับเด็กเล็กหรือเด็กโต ในกรณีที่เป็นเด็กเล็กไม่เกินสามขวบ เมื่อมีการพูดสิ่งที่เขาไม่คุ้นเคย เด็กอาจจะงงถึงการเปลี่ยนแปลงของโทนเสียง เขาอาจจะรู้สึกแปลกและกลัว เด็กก็จะเดินไปหาพื้นที่ปลอดภัยของเขาเอง เช่นไปหาคนในบ้านอีกคนที่พูดในสิ่งที่คุ้นเคย ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นกับลูกคุณก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติครับ ให้ทำต่อไป แต่ต้องใจเย็นๆทำให้ถูกหลักการและต้องใช้เวลาสักนิดให้เด็กปรับตัว อย่าพยายามพูดเยอะ โดยเฉพาะพูดเป็นประโยค ให้พูดให้น้อย เน้นเป็นคำ หรือวลีง่ายๆ แล้วมีภาษาท่าทางประกอบทุกครั้ง ที่สำคัญ “ไม่แปล” ถึงแม้ว่าเด็กไม่เข้าใจ เพื่อบังคับให้เด็กตีความด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า กระบวนการเหล่านี้จะเป็นการสร้างโหมดภาษาที่สองให้กับเด็ก สำหรับเด็กโต…เช่นสี่ห้าขวบขึ้นไป เด็กเริ่มจะรู้เรื่องแล้ว…ก่อนที่จะสอนพ่อแม่จะต้องค้นหาแรงบันดาลใจของเด็กให้พบเสียก่อน ซึ่งอาจจะเป็นการไปเจอตัวละครที่เด็กชื่นชอบในต่างประเทศ เช่นแซนต้าครอส เจ้าชาย เจ้าหญิงในเทพนิยาย ซึ่งเด็กแต่ละคน ครอบครัวแต่ละครอบครัวจะมีเรื่องราวเหล่านี้แตกต่างกัน ให้ค้นหาให้พบ เมื่อเจอแล้วก็นำสิ่งนี้ไปผูกกับเงื่อนไขว่า พ่อแม่กำลังฝึกลูกพูดภาษาอังกฤษอยู่นะ เพราะไปต่างประเทศจะได้พูดคุยกันรู้เรื่อง ต้องให้เด็กยอมรับ และมีเป้าหมายในการทำ  ถ้าคุณไม่ผ่านเงื่อนไขตรงนี้แล้วฝืนทำ เด็กจะต่อต้านและไม่เอาในที่สุดครับ และสิ่งที่กล่าวมานี้ก็คือหลักข้อที่แปดของแนวคิดเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้…หาแรงบันดาลใจ ผูกกับเงื่อนไข

พูดอังกฤษไป รู้อย่างไรว่าตัวเองพูดถูก ทั้งการออกเสียงและไวยากรณ์

ผมอยากให้แยกคำถามนี้ออกเป็นสองประเด็น ประเด็นแรกเรื่องของการออกเสียง เรื่องนี้พ่อแม่ต้องศึกษาระบบการออกเสียงภาษาอังกฤษ ซึ่งมีหน่วยเสียงเพียง 40 เสียงเท่านั้น ผมอยากให้ใช้เวลาฝึกสักหน่อย สิ่งนี้จะทำให้เราเข้าใจเรื่องของการออกเสียงแต่ละคำว่ามันประกอบไปด้วยหน่วยเสียงอะไรบ้าง แล้วคำศัพท์นับแสนจะออกเสียงถูกได้อย่างไร เมื่อมีพื้นฐานของการออกเสียงที่ดีแล้ว ในเรื่องของไวยากรณ์ตามแนวคิดเด็กสองภาษา ไวยากรณ์จะอยู่ในความรู้สึก และความรู้สึกนั้นมาจากกระบวนการเลียนแบบและขัดเกลาระหว่างพูดนั่นเอง ดังนั้นจุดเริ่มต้นให้พ่อแม่กำหนดพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองขึ้นมา ให้เริ่มต้นฝึกจากคำศัพท์รอบตัวก่อน จากนั้นค่อยไปเป็นวลี และไปเป็นประโยค สำหรับประโยคนั้น ผมอยากให้พ่อแม่ดูการ์ตูนที่สอดคล้องกับแนวคิดเด็กสองภาษา เช่นคายุ (Caillou) จากนั้นก็เลียนแบบการใช้ประโยคเหล่านั้น แล้วนำมาใช้กับลูกในสถานการณ์ที่สอดคล้องกับสิ่งที่พูดครับ เมื่อเริ่มต้นฝึกอย่างนี้ จะทำให้เรามั่นใจในเรื่องการออกเสียงมากขึ้น และประโยคที่ใช้ก็จำมาจากการ์ตูนที่มีการใช้จริงในสถานการณ์นั้นนั่นเอง สิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เมื่อการพูดประโยคที่ต่างไปจากที่ฝึกมา ก็เป็นไปได้ว่าจะมีการใช้คำที่ผิดไปบ้าง แต่ถ้ารู้เรื่องนี้เราก็จะต้องคอยตรวจสอบ แล้วแก้ไขให้ดีขึ้นในที่สุดครับ ซึ่งหนึ่งในชุมชนที่อาศัยภูมิปัญญาพวกเราในการช่วยกันขัดเกลาแก้ไขการใช้คำและประโยคให้ถูกต้อง ก็คือ “ห้องภาษาอังกฤษ” ในเว็บสองภาษานั่นเอง ผมเชื่อว่าที่นี่เป็นชุมชนการตอบปัญหาภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไปแล้ว

พ่อแม่จะต้องพูดอังกฤษตลอดเวลากับลูกไหม?

คำตอบ…ไม่จำเป็นต้องพูดภาษาอังกฤษกับลูกตลอดเวลาครับ เราเลือกระบบการสอนได้เอง ซึ่งประเด็นนี้มีคนเข้าใจผิดจำนวนไม่น้อย หลายคนที่ได้ยินเรื่องราวของการสร้างเด็กสองภาษามา คนที่สนใจก็เริ่มทำเลยโดยไม่ได้ศึกษาแนวคิดแต่อย่างใด และคิดว่าต้องพูดภาษาอังกฤษกับลูกตลอดเวลา ทั้งที่ตัวเองไม่พร้อม คุณภาพเสียงไม่ดีและไม่มีการเตรียมตัว ส่วนบางคนที่ไม่เห็นด้วยก็ต่อว่าต่อขานต่างๆนานา คิดว่าการพูดภาษาอังกฤษตลอดเวลาจะทำให้ลูกห่างเหินจากพ่อแม่และไม่มีความสุข เพราะว่าภาษาที่ใช้ในการสื่อสารแบบลึกซึ้งนั่นก็คือภาษาแม่ถูกปิดกั้นไป จะต้องมาพูดคุยภาษาอังกฤษอย่างเดียว ผมอยากจะให้ทบทวนหลักข้อที่เจ็ดของแนวคิดเด็กสองภาษาคือ “เลือกระบบให้เหมาะสมกับตัวเอง” พ่อแม่พูดกันเองพูดภาษาอะไร?ไม่ว่าคุณจะเลือกระบบในการฝึกเป็น “หนึ่งคนหนึ่งภาษา” หรือ “หนึ่งเวลาหนึ่งภาษา” การสนทนาระหว่างพ่อกับแม่หรือคนในบ้านสามารถคุยด้วย “ภาษาไทย” ตามปกติครับ ให้ใช้ชีวิตตามปกติ เด็กจะไม่งงและไม่สับสน เพราะเขาแบ่งโหมดจากคน แต่ก็อาจจะมีสงสัยบ้าง เมื่อเขาโตขึ้นและอาจจะถามว่า “ (พ่อหรือแม่) พูดไทยได้ ทำไมไม่พูดภาษาไทยกับหนู?” คุณสามารถตอบเลี่ยงๆไปตามที่นึกได้ สำหรับผมเอง เมื่อเพ่ยเพ่ยโตขึ้นมา เขาก็ถาม แต่คนอื่นช่วยตอบแทนว่า “ผมพูดไทยได้แต่พูดไม่เก่ง” เด็กก็ไม่ว่าอะไร ปัจจุบันก็คงเข้าใจแล้วว่าผมพูดไทยได้ แต่ก็ยังคงติดพูดกับอังกฤษกับผมจนถึงปัจจุบัน

ไม่กล้าพูดอังกฤษกับลูกนอกบ้าน กลัวสายตาคนเหยียดหยาม แล้วหาว่าดัดจริต ทำอย่างไรดี?

ถ้าคุณรู้สึกเหมือนกับคำถามในหัวข้อนี้ ผมอยากจะเล่าเหตุการณ์เมื่อปี 2005 ตอนที่ผมเริ่มพูดภาษาอังกฤษกับลูกใหม่ๆ  ทุกครั้งที่ออกไปนอกบ้านแล้วพูดภาษาอังกฤษ ก็จะมีสายตามาจับจ้อง ผมรู้สึกได้ทันทีถึงแม้ไม่ได้มองกลับก็ตาม เสียงตอบรับในการสร้างเด็กสองภาษาของผมนั้นไม่ได้เป็นด้านบวก ผู้ใหญ่ในครอบครัวก็มองว่ายัดเยียด เพื่อนรุ่นพี่ที่สนิทกันก็บอกว่าดัดจริต คนในสังคมก็มองด้วยสายตาแปลกๆ…มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เข้าใจและให้กำลังใจ พ่อแม่หลายคนถามผมว่าผ่านตรงนั้นมาได้อย่างไร…ผมก็ตอบว่าตอนนั้นผมไม่ได้รู้สึกอายและใส่ใจกับเสียงรอบข้างมากนัก เพราะผมรู้ว่าผมกำลังทำอะไรอยู่ เรากำลังสอนภาษาที่สองให้กับลูกบนวิถีธรรมชาติ พยายามใช้ภาษาอังกฤษให้เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตธรรมดา ไม่มีการสอบ ไม่ต้องติว ไม่ต้องท่องศัพท์ ไม่ต้องอ่านไวยากรณ์เล่มหนา ผมยังนึกไม่ออกว่ายัดเยียดตรงไหน และท้ายที่สุดสิ่งที่เราสอนไปก็ได้กลับมาอย่างคุ้มค่า และมีความสุขเมื่อเห็นพัฒนาการของลูก และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เขารับรู้การพูดภาษาที่สองจากความรู้สึก โดยที่เขาไม่รู้ตัว ดังนั้นท่านที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างดีแล้ว เห็นว่ามันเป็นเรื่องเป็นการสร้างทุนปัญญาให้กับลูกเรา ผมแนะนำให้ทำโดยไม่ต้องไปสนใจกับสายตาภายนอกมากนัก พัฒนาตัวเองตลอดเวลา เมื่อวันที่ผลผลิตผลิดอกออกมาเราจะชื่นใจและยิ้มอย่างมีความสุข ว่าไปแล้วในการสอนลูกเป็นเด็กสองภาษา ณ ตอนนี้ถึงแม้ว่ายังคงเป็นเรื่องแปลกอยู่ แต่ก็น้อยลงกว่าแต่ก่อนเยอะแล้ว ปัจจุบันเราจะเห็นพ่อแม่ที่พูดภาษาอังกฤษกับลูกจนชินตา ผมเชื่อว่าอีกไม่นานการทำอย่างนี้ก็จะเป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่จำนวนมากเขาทำกันครับ…ผมขอเป็นกำลังใจให้กับพ่อแม่ทุกคนที่เริ่มสอนเด็กสองภาษาครับ

เวลาพูดอังกฤษสำเนียงไทยมาก กลัวเสียงเพี้ยนแล้วลูกจำอย่างผิดๆ?

ถ้าเรื่องนี้เป็น “ปม” ที่พ่อแม่เอาเป็นข้ออ้าง ไม่สอนลูกเป็นเด็กสองภาษาทั้งที่ใจอยากจะสอนให้ลูกเป็นเด็กสองภาษา ผมรู้สึกเสียดายโอกาสแทน…สำหรับเรื่องนี้ผมมีข้อแนะนำอยู่สองข้อครับ ข้อแรก…ฝึกพื้นฐานการออกเสียงให้ดี คุณรู้หรือเปล่าว่าคนไทยมีความสามารถในการเลียนแบบเสียงภาษาต่างๆ…ในภาษาไทยของเรา เรารับรู้ทั้งการออกเสียงสั้น เสียงยาว เสียงควบกล้ำ การลงตัวสะกดหลายๆตัว คนไทยหูไวและเลียนเสียงเก่ง แต่เราออกเสียงภาษาอังกฤษเพี้ยน ไม่ใช่เราเลียนเสียงไม่ได้ มันเป็นเพราะเราเข้าใจผิดในเรื่องภาษาอังกฤษอยู่มากมาย เสียงในภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันมีทั้งหมด 40 หน่วยเสียง ซึ่งไม่ได้เยอะมากมายเกินกว่าจะเรียนรู้และเลียนแบบ ผมอยากให้พ่อแม่ใช้เวลาทำความเข้าใจระบบการออกเสียงของภาษาอังกฤษ จากนั้นก็ฝึกให้ได้ใกล้เคียง ให้เสียงเคลียร์เพียงพอ และดูแลการออกเสียงของตัวเองให้ได้ โดยสามารถใช้ดิกชันนารีภาษาอังกฤษ-อังกฤษเป็น…อ่านตัวกำกับการออกเสียงสากลที่เรียกว่า “โฟเนติกส์” ออก เพียงเท่านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการออกเสียงเป็นต้นแบบให้ลูกครับ (สำหรับท่านที่สนใจศึกษาเรื่องการออกเสียงนี้ให้ลึกขึ้น ผมเปิดเวิร์กช็อปโฟนิกส์และการออกเสียงอยู่เป็นประจำ ติดตามข้อมูลการจัดเวิร์กช็อปนี้ได้ที่เว็บ 2pasa.com ครับ) ข้อสอง…อย่ารอคอยความสมบูรณ์แบบ ถ้าคุณได้ศึกษาแนวคิดเด็กสองภาษาไปพอสมควร คุณจะรู้ว่าผมเน้นการฝึกให้เด็กพูดจากความรู้สึก แล้วการพูดจากความรู้สึกให้ได้นั้นจะต้องอาศัยความถี่ พร้อมกับให้เด็กตีความด้วยประสามสัมผัสทั้งห้า พ่อแม่ที่สอนตามแนวคิดเด็กสองภาษาไปสักพักก็จะรู้ดีว่า..กว่าเด็กจะจำคำศัพท์สักคำจากการตีความแล้วให้เด็กพูดออกมาจากความรู้สึกได้นั้น พ่อแม่จะต้องพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่ามากแค่ไหน เมื่อคุณเข้าใจถึงจุดนี้แล้ว ย้อนกลับมาดูความสมบูรณ์แบบในจินตนาการของเราบ้าง ความสมบูรณ์แบบในการสอนภาษาอังกฤษของเราก็คือ “ฝรั่งเจ้าของภาษาเป็นคนสอน” ผมอยากจะถามว่าจะมีครูฝรั่งคนไหนบ้างที่สามารถดูแลการพูดของเด็กแต่ละคน ขัดเกลาการเลียนแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้เด็กพูดได้ชัดและพูดจากความรู้สึกออกมาได้ ครูฝรั่งในโรงเรียนทั่วไป ต้องดูเด็กยี่สิบสามสิบคน สัปดาห์หนึ่งสี่คาบ คาบละห้าสิบนาที…ลำพังแค่เนื้อหาในบทเรียนก็สอนกันไม่ทันแล้ว อย่าว่าจะมาดูแลเด็กรายตัวและขัดเกลาการเลียนแบบได้เลย ดังนั้นผมมองไม่ออกเลยว่าใครจะสามารถดูแลเด็กรายตัว มีความถี่มากเพียงพอ และฝึกให้เด็กพูดจากความรู้สึกได้นอกจาก “พ่อแม่” […]

ให้เด็กฟังเพลงฝรั่งเยอะ ดูดีวีดีทั้งวันแล้วเด็กจะพูดอังกฤษเก่งหรือเปล่า

ตามแนวคิดเด็กสองภาษาการฟังเพลงหรือดูดีวีดีฝรั่ง ไม่ได้ทำให้เด็กพูดสองภาษาได้ครับ ไม่อย่างนั้นเราฟังเพลงฝรั่งตั้งแต่เด็ก โตขึ้นมาดูแต่หนังฮอลิวู้ด พวกเราก็พูดภาษาอังกฤษปร๋อไปแล้ว พ่อแม่ที่ยอมเสียเงินแพงๆเพื่อส่งลูกไปเรียนเพิ่มเติมตามศูนย์ภาษาที่เน้นเด็กเต้นๆตามเพลง มีฝรั่งนำและมีพี่เลี้ยงวิ่งตามไปมา แล้วคิดว่าจะมีพลังงานบางอย่างจากฝรั่งส่งมาแล้วลูกคุณจะพูดอังกฤษได้นั้น ผมอยากจะให้นึกทบทวนวัยเด็กของคุณสักนิดว่าตอนที่คุณโตขึ้นมาแล้วพูดภาษาไทยได้นั้น คุณทำแบบนั้นหรือเปล่า! เพลงฝรั่งและดีวีดีนั้นเป็นแค่ “เครื่องมือที่ช่วยสอน” เท่านั้น แก่นสำคัญคือการสอนให้ถูกต้องตามหลักตามแนวคิด ผมอยากให้พ่อแม่ทบทวนอ่านในหัวข้อ “การพูดจากความรู้สึก ตามแนวคิดเด็กสองภาษา เกิดขึ้นได้อย่างไร?”

เมื่อฝึกเด็กสองภาษาไปสักพัก เด็กเริ่มพูดปนกันทั้งไทยและอังกฤษ

เด็กเริ่มมีการพูดปนทั้งไทยและอังกฤษในช่วงที่เด็กเริ่มหัดพูดใหม่ๆ ถือว่าเป็นภาวะปกติครับ เนื่องจากคลังศัพท์อาจจะไม่พอ เมื่อเด็กต้องการสื่อความหมาย จึงไปดึงคลังคำศัพท์ของอีกภาษามาใช้…ให้พ่อแม่ค่อยๆเติมคลังคำศัพท์เข้าไปอย่างใจเย็นและขัดเกลาการเลียนแบบให้สมบูรณ์ด้วยความถี่ เมื่อเขาโตขึ้นมา เขาจะแยกแยะภาษาแต่ละภาษาออกจากกันได้เองครับ นอกจากเรื่องพูดปนกันทั้งสองภาษาแล้ว บางครั้งเด็กอาจจะมีภาวะพูดติดอ่างบ้าง ซึ่งไม่ต้องตกใจไป ค่อยๆขัดเกลาการเลียนแบบให้ช้าและเคลียร์…ไม่ช้าภาวะติดอ่างนี้ก็จะหายไปในที่สุด

หมอสั่งห้ามไม่ให้เด็กดูทีวี เพราะจะทำให้สมาธิสั้น เราควรให้เด็กดูได้ตอนอายุเท่าไหร่ดี?

ทีวีเป็นสื่อที่เน้นการสื่อสารทางเดียว ผมเห็นด้วยกับหมอ ถ้าพ่อแม่เอาทีวีตั้งแล้วปล่อยให้เด็กนั่งดูอยู่คนเดียวนานๆ เด็กจะติดทีวีมากไปและอาจจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับวัย  ผมอยากจะเสนออย่างนี้ครับ.. ให้ใช้ทีวีเป็นเครื่องมือเสริมในการสอนภาษาที่สองให้กับลูก เราไม่ควรปล่อยให้เด็กดูฟรีทีวี ถ้าจะให้ดูควรจะดูผ่านเครื่องเล่นดีวีดี เพราะเราสามารถเลือกสื่อที่เหมาะกับเด็กได้ และควรจะนั่งอยู่กับเขา คุยกับเขาด้วย เพื่อให้กระตุ้นให้เกิดการโต้ตอบ และไม่ควรจะนั่งดูนานเกินไปในแต่ละวันครับ สำหรับสื่อดีวีดีนั้น ควรจะเป็นสื่อที่สอดคล้องกับแนวคิดเด็กสองภาษา เป็นการ์ตูนหรืออนิเมชัน ไม่มีการแปล ภาพไม่เร็วจนเกินไป เสียงชัด ช้าและวนมาซ้ำบ่อยๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กเลียนแบบเสียง ตัวอย่างสื่อที่แนะนำ เช่น Baby Einstein, Caillou, Wonder Pets, Little Einstein, Kipper, Little Princess, Gruffalo และ Blue’s Clues เป็นต้น

พ่อแม่ไม่เก่งอังกฤษ พูดได้น้อยมาก สอนลูกเป็นเด็กสองภาษาได้หรือเปล่า?

คำถามข้อนี้นับว่าเป็นหนึ่งในคำถามยอดฮิต และในเวลาเดียวกันก็เป็น “ข้ออ้าง” ยอดฮิตในการบอกปัดไม่สอนลูก ผมมีข่าวดีสองข้อสำหรับพ่อแม่ที่อยากให้ลูกเป็นเด็กสองภาษาและไม่เก่งอังกฤษครับ ข่าวดีข้อที่หนึ่งก็คือ..พ่อแม่ส่วนใหญ่ที่สอนลูกเป็นเด็กสองภาษา..เป็นพ่อแม่ที่ไม่เก่งอังกฤษครับ และข่าวดีข้อที่สอง อย่าว่าไม่เก่งอังกฤษเลย ต่อให้ภาษาอังกฤษเป็นศูนย์เลยก็สอนได้ ทำไมถึงสอนได้?..เหตุผลไม่ซับซ้อนครับ หนึ่ง..มนุษย์เรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้ ดังนั้นอย่าไปปิดกั้นตัวเองและโอกาสที่ดีของลูกด้วยเหตุผลว่าไม่เก่งอังกฤษ คุณสามารถที่จะ “เริ่มต้นเรียนรู้พร้อมลูกได้ เรียนเสร็จแล้วก็สอนเลย” และสิ่งนี้ก็ถูกต้องตามแนวคิดเด็กสองภาษา เหตุผลข้อที่สอง..การเริ่มสอนจะต้องทำความเข้าใจแนวคิดเด็กสองภาษาอย่างลึกซึ้ง ซึ่งหนึ่งในหลัก 9 ข้อ ก็คือเรื่อง “พื้นที่ปลอดภัย” พ่อแม่ที่รู้ตัวว่าตัวเองอ่อนภาษาอังกฤษจะต้องเริ่มจากพื้นที่การสอนที่น้อยที่สุดก่อนที่ตัวเองรู้สึกปลอดภัย สอนให้ถูกหลัก ออกเสียงให้เคลียร์ตามพื้นที่ปลอดภัย แล้วค่อยๆพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ เพียงเท่านี้ก็เข้าสู่เส้นทางสอนลูกเป็นเด็กสองภาษาได้แล้วครับ

อยากให้ลูกพูดภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติ จะเริ่มต้นอย่างไรดี?

พ่อแม่ที่ได้ยินได้ฟังเรื่องของเด็กสองภาษามาบ้างแล้วรู้สึกสนใจ ส่วนใหญ่มักจะ “ใจร้อน” อยากให้ลูกพูดออกมาได้เร็วๆ จริงๆแล้วผมอยากให้พ่อแม่เริ่มต้นศึกษาแนวคิดเด็กสองภาษาอย่างใจเย็น…ให้เก็บประเด็น ปะติดปะต่อเรื่องราวและหลักการให้ลึกซึ้งมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อให้มองเห็นภาพใหญ่ของการเดินทางของลูกคุณไปเป็นเด็กสองภาษาได้อย่างชัดเจน แนวคิดเด็กสองภาษา ตั้งอยู่บนวิถีธรรมชาติ เน้นให้เด็กพูดภาษาอังกฤษออกมาจากความรู้สึก การฝึกเริ่มต้นไม่เน้นปริมาณคำศัพท์มากมาย แต่เน้น “คุณภาพ” ของความรู้สึกและการออกเสียงที่ดี เด็กต้องการความถี่ในการฟังและการตีความด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าที่มากเพียงพอ พ่อแม่ที่ฝึกเด็กสองภาษาจำนวนไม่น้อยใจร้อนและไม่เข้าใจเรื่องนี้ดีพอ ก็จะพยายามพูดเยอะๆ พูดทั้งวัน คุณภาพเสียงของต้นแบบนั่นก็คือพ่อแม่ยังไม่ดีพอ ทำให้ลูกพูดออกมาไม่เคลียร์ นั่นก็ถือว่ายังทำไม่ถูกต้องตามแนวคิดเด็กสองภาษา อีกส่วนหนึ่ง..เด็กจำนวนมากที่พ่อแม่พูดภาษาอังกฤษด้วยก็นิ่งเงียบ หรือไม่ก็พูดไทยออกมา นั่นสะท้อนให้เห็นว่าเด็กไม่ได้อยู่ใน “โหมด” ของการพูดจากความรู้สึก ดังนั้นจุดเริ่มต้นในการสอนลูกเป็นเด็กสองภาษาคือ…ศึกษาแนวคิดเด็กสองภาษาให้ลึกซึ้งเพียงพอ ให้เห็นภาพใหญ่ของการเดินทาง สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ และที่สำคัญ “ต้นแบบ” ของลูก นั่นก็คือพ่อแม่ ต้องศึกษาเรื่องระบบการออกเสียงภาษาอังกฤษให้เข้าใจอย่างดีด้วยครับ

1 3 4 5 6 7