น้องดราก้อน



ครอบครัว: เครือไวศยวรรณ
คนที่สอนภาษาที่สอง: ทั้งพ่อและแม่
สัมภาษณ์: คุณรุ่งแสง เครือไวศยวรรณ (พ่อ)
เด็ก: น้องดราก้อน
อาศัยอยู่จังหวัด: นครสวรรค์

ก่อนหน้านี้สอนภาษาอังกฤษหรือจีนแบบใด
โชคดีตอนที่รู้จักหนังสือเด็กสองภาษานั้น ลูกยังเล็กอยู่ (อายุแค่ 7 เดือน) ตอนนั้นพูดภาษาไทยให้กับลูกอย่างเดียว และยังไม่เคยทราบเกี่ยวกับแนวคิดในการสอนลูก 2 ภาษาเลย

เริ่มฝึกตามแนวคิดเด็กสองภาษา ตอนเด็กอายุเท่าไร แล้วทำไมถึงเปลี่ยนมาสอนตามแนวคิดเด็กสองภาษา
เริ่มตั้งแต่ตอน 7 เดือนเลย พูดคุยกับเขาทั้งสามภาษาเลย เนื่องจากเขายังตอบสนองเป็นคำพูดไม่ได้ เลยสอนเขาโดยใช้ภาษามือ ( Baby Signs) เพราะจะได้เอาไว้เชื่อมภาษาที่สอง และภาษาที่สามได้ด้วย จากการได้อ่านหนังสือเด็กสอง ภาษา และค้นคว้าหาข้อมูลด้วยพบว่า มีประโยชน์มากมายที่เราสอนลูกตามแนวคิดเด็กสองภาษา และมีแนวทางของผู้เขียนหนังสือรวมทั้งตัวอย่างของบุคคลที่ประสบความสำเร็จตามแนวคิดนี้ทั่วโลก อีกทั้งช่วยลดภาระไม่ให้ลูกต้องมาเรียนพิเศษเรื่องภาษามากมายตอนโตขึ้นเพราะพอมีพื้นฐานมาบ้างแล้ว

ระบบที่เลือกใช้ แล้วทำไมถึงเลือกใช้ระบบนี้ เริ่มต้นอย่างไรแล้วเจออุปสรรคอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร
ในช่วงแรกๆใช้ระบบหนึ่งคนหนึ่งภาษา เพราะเราทั้งสองคนเชื่อมั่นว่าจะทำให้เด็กเรียนรู้ภาษาได้เร็วกว่าหนึ่งเวลาหนึ่งภาษา โดยคุณแม่พูดภาษาจีน คุณพ่อพูดภาษาอังกฤษ ส่วนพี่เลี้ยงพูดภาษาไทย ภาษาจีนของคุณแม่ก็พอใช้ได้ แต่ก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมเหมือนกัน ส่วนภาษาอังกฤษของคุณพ่ออยู่ในระดับพอสื่อสารได้ แต่ไม่ได้พูดมานานทำให้บางครั้งนึกคำไม่ออก ต้องสื่อสารเป็นไทยแทนติดคำไหนจดไว้ก่อนแล้วไปหาคำตอบภายหลัง

พอระยะหลังพี่เลี้ยงกลับบ้านไป ทางคุณแม่ก็เลยต้องสอนภาษาไทยแทนเนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษาแม่ ต้องให้ลูกเรียนรู้ให้แข็งแรงด้วย พอลูกเริ่มย่าง 2 ขวบก็เริ่มเอาระบบหนึ่งเวลาหนึ่งภาษามาใช้ โดยคุณแม่พูดภาษาไทยตอนก่อนนอนทุกวัน

ระยะเวลาสอนจนเด็กเริ่มพูดโต้ตอบกลับเป็นภาษาที่สองอย่างเป็นธรรมชาติ
ลูกเริ่มแยกโหมดสามภาษาได้ชัดเจนตอนประมาณ 2 ขวบ แต่ยังไม่ได้โต้ตอบเป็นประโยค ใช้ระยะเวลาในการสอนประมาณ 1 ปี 5เดือน

ระดับภาษาอังกฤษและภาษาจีนของพ่อแม่ตอนเริ่มสอนเป็นอย่างไร มีความมั่นใจแค่ไหนในการสอนลูก
ตอนที่รู้ว่าต้องสอนลูกทั้งคุณพ่อ และคุณแม่ไม่มีความมั่นใจในการสอนลูกเท่าที่ควร แต่เราเชื่อว่าถ้าเราตั้งใจทำเพื่อลูก ก็มีทางเป็นไปได้ ในส่วนของคุณพ่อภาษาอังกฤษเป็นเรื่องใหญ่มากๆ เพราะไม่ได้ใช้มานาน ต้องฟื้นฟูและต้องค้นคว้าเพิ่มเติมอีกหลายอย่าง ในส่วนของคุณแม่ก็พอสื่อสารได้ทั่วไป แต่ว่าต้องรื้อฟื้นศึกษาเพิ่มเติมว่า ภาษาจีนในชีวิตประจำวัน เขาพูดกับลูกวัยนี้อย่างไร

เสี้ยวเวลาที่ลูกโต้ตอบกลับมาเป็นภาษาที่สองได้รู้สึกอย่างไร:
ดีใจ และสุขใจมากๆเลย เพราะเราเฝ้ารอผลผลิตที่เราฟูมฟักมานาน ถึงแม้ว่าลูกของเราจะใช้เวลาสอนที่ยาวนานกว่าคนอื่นกว่าลูกจะพูดอยู่ในโหมดภาษาที่สองได้ เนื่องจากเขาเป็นเด็กพูดช้าหน่อยจนพ่อแม่เกือบจะท้อใจเหมือนกัน

พัฒนาการในแต่ละช่วง
11 เดือน ตอบกลับคุณพ่อ คุณแม่โดยใช้ Baby Sign เป็นครั้งแรกและเข้าใจ Sign ง่าย ๆ ที่พ่อแม่สื่อสารบอกเขา
1ขวบ 3 เดือน ใช้ Baby Sign ( 40 กว่าคำ) ได้คล่องพอสมควร พูดศัพท์และ ทำSign พร้อมกัน สื่อสารกับเราได้เป็นคำ ๆ
1 ขวบ 8 เดือน สามารถอ่านตัวอักษรภาษาอังกฤษ และสะกดเสียงแบบโฟนิคส์ A-Z ได้
2 ขวบ สามารถอ่านภาษาอังกฤษเป็นคำๆประมาณ 40 คำ อ่านตัวหนังสือจีนได้ประมาณ 10 กว่าคำ สามารถพูดได้สองพยางค์
2 ขวบ 3 เดือน ไม่ได้สอน Baby Sign เพิ่มเติมอีกแล้ว เพราะว่าตอนนี้เขาเริ่มพูดได้เยอะแล้ว แต่ยังไม่เป็นประโยคยาว ๆ

จนถึงตอนนี้ คุณพ่อ และคุณ แม่เองคิดว่ายังไม่ประสบความสำเร็จในโหมดสามภาษาเต็มร้อยเปอร์เซนต์ เพราะต้องใช้ระยะเวลาที่นานกว่านี้ให้เด็กค่อยๆสะสมคลังศัพท์ไปเรื่อยๆก่อน แต่ว่าก็จะพยายามต่อไป

คิดอย่างไรกับการสอน A Ant มด ในโรงเรียน แล้วอยากฝากอะไรถึงโรงเรียนบ้าง
เป็นความคิดสอนศัพท์แนวท่องจำ เพื่อที่จะสอบให้ผ่าน แต่เด็กไม่สามารถกล้าที่จะพูดภาษาอังกฤษเป็นประโยคกันในเวลาเรียนได้ ความจริงถ้าจะสอนให้จำก็ควรให้จำเป็นประโยคไปเลยดีกว่า เช่น Where are you going ? อธิบายว่าเอาไว้ถามตอนไหน กับใครเมื่อไร ดีกว่ามาแปลทีละตัว ตราบใดที่ระบบการวัดผลการเรียนยังเป็นรูปแบบเดิมคือให้แปลเป็นไทย ครูก็ยังสอนแบบนี้อยู่ดี

ถ้าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงคือ ต้องเปลี่ยนทุกโรงเรียน ที่สำคัญคือแนวความคิดของผู้บริหารการศึกษาจะเป็นคนชี้นำระบบการสอนให้กับครูผู้สอนอีกที

คิดอย่างไรกับแนวคิดเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้
เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะช่วยพัฒนาสมองของเด็กให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว วัยเด็กเล็กเป็นวัยที่สามารถเรียนรู้ และจดจำภาษาได้ดี ไม่ค่อยต่อต้าน อีกทั้งพ่อแม่เป็นผู้มีเวลาอยู่ใกล้ชิดลูกมากที่สุด เราสามารถทุ่มเทการสอนตามแนวคิดเด็กสองภาษาได้อย่างเต็มที่

คนรอบข้างมองอย่างไร เมื่อเห็นเราพูดภาษาที่สองกับลูก แล้วเราทำอย่างไร
ในส่วนของคุณพ่อเอง ก็มีคนมองเป็นธรรมดาอยู่แล้ว (ยิ่งในต่างจังหวัดด้วย และหน้าตาก็ไม่ได้กระเดียดไปทางฝรั่งอีกต่างหาก ) ตอนแรกอาจจะสงสัยว่าเป็นพวกสิงค์โปร์หรือจีนหรือเปล่า แต่พอฟังคุณพ่อคุณแม่พูดไทยกันเองชัดแจ๋วก็รู้ว่าไม่ใช่แน่

แต่ในส่วนคุณแม่ อาจมีคนมองเยอะกว่าเพราะภาษาจีนยังไงก็ยังมีคนพูดน้อยกว่าภาษาอังกฤษ ถ้าดูเฉพาะหน้าตาก็อาจจะใกล้เคียงบ้าง พูดกับลูกแบบปรกติ ไม่เขินตั้งแต่แรกพูดให้เหมือนเป็นธรรมชาติของเรา

คนรอบข้างมีทั้งชื่นชม สนใจ สงสัย และอาจจะหมั่นไส้บ้างเป็นธรรมดา บางคนที่พอเคยศึกษาเรื่องนี้มาก่อนก็เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดกัน คนที่คนรอบข้างบางคนก็ไม่เข้าใจลักษณะการสอนของคุณพ่อคุณแม่ ก็จะบอกว่า เดี๋ยวลูกจะงง เครียด แต่เราก็รับฟังไว้เฉย ๆ ไม่โต้ตอบ เพราะเข้าใจว่าต่างคนต่างความคิด

คำแนะนำและความคิดเห็นอื่นๆให้กับพ่อแม่ท่านอื่น
ถ้ามีความสนใจและตั้งใจ อยากให้ลองเข้ามาสัมผัสทำตามหลักการของหนังสือเด็กสองภาษาสักช่วงหนึ่ง การประสบความสำเร็จดังใจหวังหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ อย่างน้อยๆก็ได้ลองแล้วเพราะเราเชื่อว่า ความรักที่เรามีต่อลูกจะช่วยให้เราฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆไปได้

วิเคราะห์โดยผู้ใหญ่บิ๊ก
ครอบครัวคุณรุ่งแสงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะสอนสามภาษาพร้อมกัน โดยทั้งที่พ่อแม่เป็นคนไทยทั้งคู่ เนื่องจากคุณแม่มีพื้นภาษาจีนอยู่แล้วจึงไม่ลำบากมากนัก ส่วนคุณพ่อก็รื้อฟื้นภาษาอังกฤษ ประกอบกับลูกยังเล็กอยู่ ก็เลยเริ่มจากการสอนภาษามือเด็ก (Baby Sign) ก่อน จากนั้นก็ค่อยๆเติมทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษเข้าไป ซึ่งเด็กก็ตอบสนองได้ดี ดังนั้นการสอนสามภาษา ปัจจัยหลักอยู่ที่ความพร้อมของครอบครัวมากกว่าเด็ก ถ้ามีคนพูดทั้งสามภาษาอยู่แล้ว บวกกับความมุ่งมั่นในการสอน เส้นทางเด็กสามภาษาก็อยู่ไม่ไกล