น้องข้าวหอม

ตอนเด็กที่ยังไม่เข้าโรงเรียน มักจะมีคำถามว่าข้ามหอมเป็นลูกครึ่งหรือเปล่าค่ะ? สัญชาติอะไรค่ะ? พ่อหรือแม่เป็นต่างชาติค่ะ? พอเข้าโรงเรียน ก็มีคำถามอีกว่าน้องเรียนโรงเรียนนานาชาติหรือเปล่าค่ะ? เรียนโรงเรียนอะไรค่ะ? ไม่มีคำถามไหนเลยที่ถามว่า …คุณพ่อคุณแม่สอนเองหรือเปล่าคะ ทั้งที่จริง ๆ แล้วอยากบอกว่า พ่อแม่สำคัญที่สุด พื้นฐานของเด็กจะเป็นแบบไหน ต้องเริ่มที่พ่อแม่ … ถ้าพ่อแม่ไม่เริ่ม อย่าคาดหวังว่าคนอื่นจะเริ่มให้ สิ่งแวดล้อมอื่นเป็นปัจจัยภายนอกที่เข้ามาส่งเสริมและสร้างพัฒนาการให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเท่านั้น




ครอบครัวน้องข้าวหอม
ชื่อพ่อ: จักรกฤช ปลีหจินดา
ชื่อแม่: วรนุช ปลีหจินดา
ชื่อลูก: ชิตังเม ปลีหจินดา (ข้าวหอม) อายุ 5 ปี
อาศัยอยู่จังหวัด: สุมทรปราการ

รู้จักแนวคิดเด็กสองภาษาได้อย่างไร แล้วทำไมถึงสนใจแนวคิดนี้?
มีการอ่านบทความต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงเด็กอื่น ๆ มาบ้าง แต่ที่มาจุดประกายจริง ๆ ก็จากการอ่านหนังสือเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ เล่ม 1 ของคุณบิ๊กและหลังจากนั้นก็เข้าเว็บสองภาษา ในเว็บจะมีคุณพ่อคุณแม่ที่มีแนวคิดเดียวกันมาแลกเปลี่ยนความรู้ ดีมากครับ

สนใจแนวคิดนี้ เนื่องจากเปรียบไปแล้ว อยากให้ลูกมีอาวุธ (ความรู้) หลาย ๆ แบบ ต่อไปเธอจะเลือกใช้หรือชอบอาวุธ (ความรู้) ไหนก็แล้วแต่ และที่สำคัญคือประเทศไทยเข้าร่วมประชาคมอาเซียนด้วยแล้ว ภาษาเป็นสิ่งหนึ่ง ที่จะสร้างความได้เปรียบให้ลูกเราครับ

ระบบที่เลือกใช้ฝึก (หนึ่งคนหนึ่งภาษา หรือหนึ่งเวลาหนึ่งภาษา) แล้วทำไมถึงเลือกใช้ระบบนี้?
ทั้งพ่อและแม่ต้องทำงานทั้งคู่ มีเวลาค่อนข้างจำกัด จึงเลือกระบบหนึ่งเวลาหนึ่งภาษา ซึ่งแนว
การฝึกแบบนี้ พ่อแม่สามารถช่วยกันได้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ต้องเตรียมตัวเรื่องภาษาอังกฤษมากเกินไปครับ

เริ่มต้นอย่างไรแล้วเจออุปสรรคอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร?
แรก ๆ ของการเริ่มสอนไม่มีอุปสรรค ด้วยยังเป็นการสอนคำศัพท์/ประโยคง่าย ๆ พ่อแม่ยังรับมือได้ แต่พอลูกเริ่มพูดได้ตอนนี้พ่อแม่เริ่มปวดหัว เนื่องจากนึกคำศัพท์ หรือ ประโยคภาษาอังกฤษไม่ได้ในทันที บางครั้งใช้เวลานึกนาน เวลาลูกถามหรือพูด ไม่สามารถโต้ตอบได้ในทันที วิธีการแก้ปัญหาคือ คำไหนหรือประโยคไหนนึกเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็ตอบเป็นภาษาไทย หรือไม่ก็บอกว่า พ่อ/แม่ไม่แน่ใจ เดี๋ยวขอไปหาข้อมูลก่อนหรือถ้า ณ ตรงนั้นมีเครื่องมือช่วย เช่น คอมพิวเตอร์ ดิกชันนารี ก็ชวนกันหาคำตอบเลย ครอบครัวเราคิดกันว่าเราต้องไม่อายที่จะพูดกับลูกว่าไม่รู้ แต่หลังจากนั้นเราต้องหาข้อมูลมาตอบลูก ไม่ปล่อยให้ความสงสัยหรือคำถามของลูกเสียเปล่า เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นของคำถามครั้งต่อ ๆ ไปครับ

ระยะเวลาสอนจนเด็กเริ่มพูดโต้ตอบกลับเป็นภาษาที่สองอย่างเป็นธรรมชาติ?
เริ่มสอนตั้งแต่ลูกอายุประมาณ 1 ขวบ ลูกมาพูดเป็นประโยคภาษาอังกฤษประมาณ 2 ขวบ 5 เดือน (ตามที่บันทึกไว้) ซึ่งตอนแรกไม่ได้คาดหวังว่าลูกจะสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี หวังแค่ให้ลูกพอใช้ได้บ้างเท่านั้นครับ (ก่อนลูกอายุ 1 ขวบมีการเปิดดนตรีของโมซาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart) ให้ฟังเป็นประจำ จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังฟังอยู่บ้าง)

ระดับภาษาอังกฤษของพ่อแม่ตอนเริ่มสอนเป็นอย่างไร มีความมั่นใจแค่ไหนในการสอนลูก?
ระดับภาษาอังกฤษของพ่อแม่อยู่ในระดับปานกลาง (ต้องหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ต่อเนื่อง) แต่มีความมั่นใจ 100% ว่าลูกเรา เราต้องสอนได้ดีที่สุด เนื่องจากพ่อแม่จะรู้จักลูกตัวเองดีกว่าใคร ๆ เพียงแต่ไม่ได้คาดหวังว่าผลที่ได้จะมากเท่าที่ลูกทำได้ในปัจจุบันครับ

เสี้ยวเวลาที่ลูกโต้ตอบกลับมาเป็นภาษาอังกฤษได้รู้สึกอย่างไร?
ความรู้สึกคือทึ่งและภูมิใจ จากพ่อแม่ที่ภาษาอังกฤษก็พื้น ๆ แต่สามารถสอนลูกให้สื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติ มันเป็นความมหัศจรรย์ที่ถูกสร้างขึ้นแล้วเห็นผลจริง ๆ สิ่งที่ทำมาไม่สูญเปล่าครับ

อยากให้เล่าประสบการณ์ดีๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่สอนลูกเป็นเด็กสองภาษา?
เมื่อคนรอบข้างหรือคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเห็นหรือได้ยินลูกเราพูดภาษาอังกฤษ ก็จะชื่นชมในความสามารถ มีการซักถามวิธีการเลี้ยง คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็ภูมิใจครับ

คำแนะนำและความคิดเห็นอื่นๆ ให้กับพ่อแม่ท่านอื่นในการสอนสองภาษา?
การสอนต้องอาศัยเวลา เริ่มจากคำศัพท์ง่าย ๆ จากนั้นเพิ่มเติมให้เป็นประโยคที่ไม่ซับซ้อน พูดซ้ำไปซ้ำมา อาศัยความสม่ำเสมอ ลูกจะซึมซาบสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งเมื่อเธอพร้อม เธอจะแสดงออกมาให้พ่อแม่เห็นเอง วิธีการสอนเด็กแต่ละคนไม่ตายตัว พ่อแม่ต้องสังเกตและปรับเปลี่ยนรายละเอียดให้เหมาะสมกับลูกของตัวเอง แนวคิดของการสร้างเด็กสองภาษา พ่อแม่ทำได้จริงครับ


บล็อกบันทึกเรื่องราวครอบครัวเด็กสองภาษา