ดีใจที่วันนั้น เราอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเริ่มลงมือทําเลยและไม่เลิกไปเสียก่อน ทําให้มีวันนี้ที่ลูกสื่อสารเป็นอังกฤษกับเราได้อย่างเป็นธรรมชาติจริงๆ เล็กคิดว่าพื้นฐานภาษาอังกฤษของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่เรื่องความรักลูกและต้องการให้ลูกได้สิ่งที่ดีที่สุดแต่ละคนคงไม่น้อยหรือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะฉะนั้นอย่าให้ข้ออ้างเล็กๆน้อยๆมาขัดขวางความตั้งใจในการสอนสองภาษาให้กับลูก
ความในใจแม่เล็ก
น้องเนย
ครอบครัว: วิริยะจิตต์
อาศัยอยู่จังหวัด: กรุงเทพฯ
ก่อนหน้านี้สอนภาษาแบบ: สอนคำแปลคำ
เริ่มฝึกตามแนวคิดเด็กสองภาษา ตอนเด็กอายุ: สองขวบครึ่งซึ่งพูดไทยได้เก่งแล้ว
ระยะเวลาสอน จนเป็นเด็กสองภาษา: 6 เดือน
ระบบที่เลือกใช้: หนึ่งคนหนึ่งภาษา โดยแม่เป็นคนพูดภาษาอังกฤษ พ่อพูดไทย
ระดับภาษาอังกฤษของแม่: แม่ไม่เก่งฟังพูด เพราะคืนครูไปหมดแล้ว ต้องเริ่มฟื้นฟูใหม่
เสี้ยวเวลาที่ลูกโต้ตอบกลับมาเป็นภาษาที่สองได้ รู้สึกอย่างไร: “ดีใจ รู้สึกว่าฉันทำได้แล้ว เพราะไม่คิดว่าจะทำได้ขนาดนี้ ก่อนหน้านี้คิดว่าพ่อแม่ไทยที่ไม่เรียนเมืองนอกจะทำได้อย่างไร พอถึงจุดนี้คิดว่าพ่อแม่ไทยทุกคนที่ไม่เก่งอังกฤษก็ทำได้ เรียนพร้อมลูก เรียนเสร็จแล้วสอนเลย”
อุปสรรคตอนต้น:
แม่พูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง นึกคำและประโยคพูดไม่ค่อยออก
ลูกต่อต้าน บอกแม่ว่าฟังไม่รู้เรื่อง
การแก้ไข:
พัฒนาตัวเองโดยเข้าเว็บ 2pasa.com ไปตั้งกระทู้ถามในห้อง English club
ดูดีวีดีตามที่หนังสือเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้เล่มหนึ่งแนะนำ
สร้างแรงบันดาลใจให้กับลูก ถ้าอยากจะรู้ว่า Caillou พูดอะไร ก็ต้องฝึกภาษาอังกฤษกับแม่ เพราะ Caillou พูดไทยไม่ได้ (Caillou-คายุเป็นการ์ตูนครอบครัวที่แนะนำให้พ่อแม่หาให้ลูกดู ในการฝึกภาษาอังกฤษ)
อดทน ตั้งสติใหม่เมื่อลูกต่อต้านแล้วกลับไปอ่านหนังสือเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ซ้ำอีกครั้ง
พัฒนาการ:
เดือนแรก แม่พูดภาษาอังกฤษ ลูกจะแปลเป็นไทยทันที แล้วถามว่าใช่หรือเปล่า แม่ก็ตอบกลับเป็นภาษาอังกฤษโดยไม่มีการแปล (รักษาหลักข้อที่หนึ่ง “ไม่แปล” เอาไว้)
เดือนที่สอง แม่ถามเอง ตอบเอง เพราะถ้าไม่ตอบเอง ลูกจะพูดคำถามตามแม่ เช่น “Are you hungry? Yes,I am.”
แล้วเอาอาหารมาเสิร์ฟ ถ้าไม่พูด “Yes,I am.” ลูกจะพูดตามว่า “Are you hungry?” (รักษาหลักข้อที่สอง “พยุงการพูด”)
เดือนที่สาม ลูกต้องพูดถึงจะได้ เช่นลูกพูดว่า “แม่หนูหิวน้ำ” แม่พูดกลับ “You should say may I have some water please.” จากนั้นก็ยื่นแก้วน้ำให้ (รักษาหลักข้อที่แปด “สร้างแรงบันดาลใจ ผูกกับเงื่อนไข”)
เดือนที่สี่ แม่แกล้งโง่ ฟังลูกไม่ออก เพื่อให้ลูกได้เริ่มบทสนทนาก่อน
เดือนที่ห้า ลูกเริ่มเถียงและโต้ตอบได้บ้าง แต่ได้ไม่ตลอด
เดือนที่หก ลูกเริ่มพูดกับแม่ในโหมดภาษาอังกฤษได้ 100%
คำแนะนำเกี่ยวกับการสร้างเด็กสองภาษา:
ใจเย็นๆ ทำเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบ
ต้องอดทนเพื่อลูก
ต้องมีกำลังใจ ท้อมีได้ แต่ต้องไม่ถอย
ได้ความคิดใหม่ว่า เราต้องมองบวกเข้าไว้ อย่าคิดว่าเราทำไม่ได้ ต้องคิดว่าเราต้องทำได้สิน่า ถ้าเราคิดดีแล้ว เราจะฝ่าฟันอุปสรรคการเริ่มต้นไปได้
วิเคราะห์: แม่น้องเนยเป็นหนึ่งในตัวอย่างของแม่ที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ แต่มีความมุ่งมั่นมาก โดยเฉพาะการทุ่มเทกับลูก เธอได้เลือกระบบที่ยากที่สุดในการสอน แน่นอนที่สุดด่านทดสอบจิตใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะฝ่าไป เมื่อติดปัญหาภาษา เธอก็มาตั้งกระทู้ถามในเว็บสองภาษา เพื่อนๆก็ช่วยกันตอบ ถามกันไปถามกันมาจนปัจจุบันคำถามคำตอบแทบจะเป็นคลังความรู้ภาษาอังกฤษสำหรับพ่อแม่พูดกับลูกไปแล้ว ในการจัดเวิร์กช็อปของผมทุกครั้ง เธอเลยเป็นคนที่ช่วยเล่าประสบการณ์ที่ผู้เข้าฟังสนใจมากๆคนหนึ่ง เพราะหลายคนยังสงสัยอยู่ว่า แม่ไม่เก่งอังกฤษสอนลูกจนเป็นเด็กสองภาษาไปได้อย่างไร
บล็อกบันทึกเรื่องราวครอบครัวเด็กสองภาษา