ถ้ามองย้อนไปเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน เราก็เป็นแม่ที่ภาษาอังกฤษบ้านๆที่พูดภาษาอังกฤษผิดๆ แล้วอยากสอนภาษากับลูก มองดูแล้วในสายตาคนที่เขาพูดภาษาอังกฤษเป็น คงขำเรา มาจนถึงทุกวันนี้เราสามารถสอนลูกพูดและอ่านได้ ในระดับที่เจ้าของภาษาบอกว่าลูกเราเหมือนเด็กในอเมริกานั้น คงเพราะเราทำมาถูกแนวทาง และทำอย่างต่อเนื่อง อาจมีหยุดบ้างแต่ก็ไม่เคยถอย แนวทางที่ถูกนั้น ก็คือ แนวทางเด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้ของ พี่บิ๊กนั่นเอง
ต้องขอขอบพระคุณหนังสือดีๆที่เขียนขึ้นมาให้ครอบครัวเราที่มองหาทางออกของปัญหาการทำอย่างไรให้ลูกเราพูดภาษาอังกฤษได้และลุงทุนน้อย เพราะโดยฐานะครอบครัวและอยู่ต่างจังหวัดลูก คงไม่มีโอกาสเรียนโรงเรียนอินเตอร์
อยากให้ครอบครัวอีกหลายๆครอบครัวที่กำลังเริ่มสอนภาษาตามแนวทางเด็กสองภาษานี้ เชื่อมั่นว่าแนวทางนี้ทำได้จริง โดยสวนตัวคิดว่าน่าจะใช้คำว่า ทฤษฎีเด็กสองภาษา ได้เลยค่ะ
ความในใจแม่ฝนของน้องปิ่น
-
แม่ไม่เก่งอังกฤษจะสอนลูกเป็นเด็กสองภาษาได้อย่างไร: ครอบครัวน้องปิ่น 1/2
-
แม่ไม่เก่งอังกฤษจะสอนลูกเป็นเด็กสองภาษาได้อย่างไร: ครอบครัวน้องปิ่น 2/2
-
Pin play the clay
-
แม่น้องปิ่น พูดถึงข้อดีของเด็กสองภาษาต่างจังหวัด
-
น้องปิ่น เด็กสองภาษา พิษณุโลก
-
สัมภาษณ์ฝน แม่น้องปิ่น
-
น้องปิ่นเริ่มหัดอ่านนิทาน1
-
สำเนียงแม่ไก่กา VS สำเนียงอเมริกาลูก
-
Pin Pin is the teacher.
-
น้องปิ่น 2 ขวบ 11เดือน
-
MOV03814
ครอบครัวน้องปิ่น
พ่อแม่: ธีระศักดิ์ ดวงเงิน / สริญญา เสาว์บุปผา
ลูก: ดญ. ญาณัจข์ฉรา ดวงเงิน ( ปิ่น ) 6 ปี 8 เดือน
จังหวัด: พิษณุโลก
เคยเห็นพ่อแม่คนไทย พูดภาษาอังกฤษกับลูกมั้ย คุณรู้สึกอย่างไร?
ครั้งแรกที่เจอยังเป็นภาพที่อยู่ในใจอยู่เลยค่ะ ตอนนั้นยังเป็นนักศึกษาพยาบาลอยู่เลยค่ะ เห็นพ่อกับลูกสาวอายุประมาณ 3 ขวบคุยกันเป็นภาษาอังกฤษ ความรู้สึกว่า น่ารักและประทับใจมากๆค่ะ แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรมากเพราะยังไม่มีครอบครัว แต่ก็แอบคิดว่าถ้าตัวเองมีลูก ลูกก็คงมีดวงชะตาไม่ต่างกับเรา คือไม่ได้ภาษาอังกฤษเลย เพราะคะแนนเอ็นทรานซ์ภาษาอังกฤษ ของเรายังไม่ถึง 30 คะแนนเลยค่ะ
รู้จักแนวคิดเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ได้อย่างไร แล้วรู้สึกอย่างไรกับแนวคิดนี้?
เริ่มจากการอ่านหนังสือเด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้ หลังจากอ่านจบรู้สึกเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ทุกข้อเลยค่ะ โดยเฉพาะแนวคิดการสร้างเด็กสองภาษา ไม่ใช่เป็นเด็กภาษาสองชั้น หลักข้อแรกของแนวคิดเด็กสองภาษาคือ “ไม่ต้องแปล” มันโดนใจมาก มันเป็นปัญหาของคนทั่วไปเลย ซึ่งตนเองก็มีปัญหาเหมือนกัน ก่อนที่จะพูดเราจะคิดก่อนว่าภาษาไทยคำนี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่าว่าอะไร ท่องให้หัวแตกก็จำไม่ได้ค่ะ
ระบบที่ใช้ฝึกตามแนวคิดเด็กสองภาษาแล้วทำไมถึงเลือกใช้ระบบนี้?
เลือกใช้ระบบหนึ่งเวลาหนึ่งภาษา แต่อยากจะเรียกว่า หนึ่งเวลา 5 คำมากกว่าค่ะ เพราะว่าคลังคำศัพท์ของแม่น้อยมาก พูดไม่ค่อยได้ค่ะ แต่ก็พยายามเพิ่มคำไปเรื่อยๆ
เริ่มต้นอย่างไร เจออุปสรรคอะไรบ้าง และแก้ปัญหาอย่างไร?
หลังจากตกลงว่าจะสอนเด็กสองภาษาแน่นอน แม่ก็เริ่มเรียนรู้คำศัพท์ในหนังสือสองภาษาพ่อแม่สร้างได้ เล่ม 1 เลยค่ะ และก็ทำตามทุกอย่างที่มีแนะนำในหนังสือ พกหนังสือไปทุกที่เพื่อหยิบมาดูคำศัพท์ ตอนนั้นสมาร์ทโฟนยังเข้ามาช่วยเราได้เท่าปัจุบัน ซื้อหาอุปกรณ์ต่างๆมาเปิดฟัง โฟนิกส์ก็ไม่รู้ ก็ลำบากมาก สรุปแล้วอุปสรรคไม่ใช่ที่ลูก แต่เป็นระดับภาษาของแม่ ก็มีคนบอกให้เราไปเรียนภาษาใหม่ก่อนค่อยมาสอนลูก แต่เราก็ไม่ท้อค่ะ ทำต่อไปได้แค่ไหนแค่นั้น รู้สึกแค่ไม่อยากให้ลูกเป็นเหมือนเรา อย่างน้อยช่วยเขาให้รู้คำศัพท์พื้นฐานก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย
ระยะเวลาสอนจนเด็กเริ่มพูดโต้กลับเป็นภาษาอังกฤษใช้เวลานานแค่ไหน และเสี้ยวเวลาที่ลูกพูดตอบกลับเป็นภาษาอังกฤษรู้สึกอย่างไร?
เริ่มตั้งแต่น้องอายุ 1 ขวบ 3 เดือน เริ่มพูดในโหมดสองภาษาได้ประมาณ 2 ขวบตามพัฒนาการด้านภาษาเด็กค่ะ พูดเป็นวลีประโยคสั้นๆได้ค่ะ ที่น้องพูดได้เองโดยไม่ได้พูดตามเรา รู้สึกว่ามันทำได้จริงตามแนวคิดนี้ อยากขอบคุณคนเขียนหนังสือจริงๆ
ระดับภาษาอังกฤษของพ่อแม่ตอนเริ่มสอนเป็นอย่างไร มีความมั่นใจแค่ไหนในการสอนลูก?
อย่างที่บอกค่ะ น้อยมากๆ ด้วยความไม่รู้ของเรากลับเป็นเรื่องดีค่ะ ไม่รู้หรอกว่าพูดผิด หรือพูดถูก แต่เราพูดกับลูก หลังจากนั้นก็เริ่มเรียนรู้และค่อยๆพัฒนาขึ้นมา จนปัจจุบัน 5 ปี พัฒนาการของน้องก็ดีขึ้นเรื่อยๆค่ะ
นอกจากอ่านหนังสือเด็กสองภาษาแล้ว เคยเข้าเวิร์กช็อปหรือเปล่า หลังจากเข้าแล้วรู้สึกอย่างไร?
มีโอกาสเข้าร่วมตอนที่มีจัดเวิร์กช็อปที่จังหวัดพิษณุโลก รู้สึกว่าการมาฟังเป็นการมาเอากุญแจ เพื่อไขประตูเปิดไปสู่การพูดภาษาอังกฤษสำหรับทุกคนค่ะ ไม่ใช่เฉพาะมาสอนลูกเท่านั้น
รู้สึกท้อไหม อะไรคือสิ่งหล่อเลี้ยงที่ทำให้ไม่หยุดสอน และเดินหน้าต่อจนลูกเป็นเด็กสองภาษา?
ไม่เคยท้อค่ะ มีแต่อยู่แบบคงที่ช่วงเราไม่รู้จะต่อยอดอย่างไร แต่ด้วยความโชคดีเจอเพื่อนร่วมแนวคิด และรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นครอบครัวเด็กสองภาษาพิษณุโลก เลยทำให้เราไปต่อได้ยาว มีเพื่อนร่วมเดินทาง ให้กำลังใจ และช่วยกันแบ่งปันกันค่ะ
ประสบการณ์ที่เด็กเจอเจ้าของภาษาเป็นอย่างไร?
ตอนนั้นนัดสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อนมัธยมปลาย เพราะเพื่อนคนหนึ่งกลับมาจากอเมริกา และแฟนเพื่อนที่เป็นชาวอเมริกามาด้วย น้องเลยได้มีโอกาสได้พูดคุยกับแฟน ด้วยความน่ารักของแฟนเพื่อน ชวนน้องคุยเป็นชั่วโมงเลยค่ะ แม่เลยสอบถามว่าน้องสำเนียงเป็นอย่างไรบ้าง เขาบอกว่าน้องเหมือนเด็กที่อเมริกา ที่อายุเท่านี้เลยค่ะ แม่ก็เลยเป็นปลื้ม ยิ้มหน้าบานค่ะ
เสียงตอบรับในการสอนลูกเป็นเด็กสองภาษาของคนรอบข้าง?
ทุกๆคนในครอบครัว และพื่อนๆก็ชื่นชมในตัวน้องค่ะ ไปไหนกันสองคนแม่ลูก พูดคุยกันเป็นภาษาอังกฤษเขาก็มีคนทักว่าพ่อเป็นคนชาติไหนบ้าง หรือไม่ก็คิดว่าเราเป็นฟิลิปปินส์ค่ะ
คำแนะนำให้กับพ่อแม่ที่กำลังคิดสอนลูกเป็นเด็กสองภาษา
สำหรับคนที่กำลังคิดจะสอนลูกเป็นเด็กสองภาษา แนะนำให้เลิกคิดค่ะ เปลี่ยนมาเป็นลงมือทำได้เลยค่ะ เพราะแนวทางนี้ใช้ได้จริงและที่สำคัญแนวคิดนี้สอนภาษาลูกเป็นธรรมชาติ ขอเพียงแค่อย่าหยุดทำเท่านี้เป็นกำลังใจให้ทุกๆครอบครัวนะคะ