ครอบครัว: นพเกตุ
สัมภาษณ์: คุณสวลี ตั้งธนวัฒน์
อาศัยอยู่จังหวัด: ฉะเชิงเทรา & ขอนแก่น
เด็ก: น้องยาโย อายุ ( ขวบ)
ก่อนหน้านี้สอนภาษาอังกฤษแบบใด
ยังไม่ได้เริ่มสอนภาษาที่สองเลย มีเพียงแค่โปสเตอร์ ABC 1 แผ่นติดไว้ แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มสอน
เริ่มฝึกตามแนวคิดเด็กสองภาษา ตอนเด็กอายุเท่าไร แล้วทำไมถึงเปลี่ยนมาสอนตามแนวคิดเด็กสองภาษา
เริ่มตอนเด็กอายุ 1 ขวบ 7 เดือน …..ทราบเรื่องราวแนวคิด “เด็กสองภาษา” จากเพื่อนโทรมาเล่าให้ฟังว่าดูรายการชีพจรโลก เลยกลับไปดูย้อนหลังแล้วซื้อหนังสือ เด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้มาอ่าน และเข้าเว็บ 2pasa.com ตรงนี้ทำให้เห็นแนวคิด เรื่องราว ประสบการณ์จากหลายครอบครัว ทำให้เราคิดว่า มันเป็นไปได้จริงๆ เป็นของจริง ไม่ใช่แค่ทฤษฎีลอยๆที่ปฏิบัติจริงไม่ได้
ระบบที่เลือกใช้ แล้วทำไมถึงเลือกใช้ระบบนี้
ใช้ระบบหนึ่งคนหนึ่งภาษา เพราะคิดว่าหนทางนี้แหละทำให้เรามุ่งมั่น ท้าทาย เหมือนบังคับตัวเองไปด้วย
เริ่มต้นอย่างไรแล้วเจออุปสรรคอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร
เริ่มต้นจาก ประโยคตัวอย่างในหนังสือ เด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้เล่มหนึ่งและเข้าดูในเว็บ 2pasa.com ห้อง English club
อุปสรรค คือตัวแม่เอง กดดัน อึดอัด เพราะตัวเองไม่เก่งอังกฤษ …พูดอังกฤษได้ไม่ตามใจคิด หรือ พูดได้ไม่ครบถ้วนเหมือนที่เราอยากจะพูดในภาษาไทย เนื่องด้วยปกติ จะพูดโน่น นี่ นั่นกับลูกค่อนข้างเยอะ แต่เมื่อเราเปลี่ยนโหมดมาเป็นอังกฤษล้วน มันติดไปซะทุกคำ ทุกประโยค ไม่ไหลลื่น ดั่งใจเรา
การแก้ปัญหา คือ ติดคำไหนก็รีบเปิดตำราดู พูดจนกว่าจะจำได้ ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างหนัก ท่องบ้าง อ่านบ้าง ฟังบ้าง แต่ช่วงแรกเน้นเข้าไปอ่าน ไปถามในห้อง English club แล้วรีบหาโอกาสใช้กับลูกเลย ทำบ่อยๆเข้า ประโยคเดิมๆ ก็เริ่มจำได้ คล่องขึ้น
เวลาท้อ มีบ้าง แต่ไม่คิดถอย…เข้าไปหากำลังใจที่เว็บสองภาษา และมีเพื่อนร่วมทางมากมายคอยให้กำลังใจกันและ ดูคลิปเด็กๆในหมู่บ้าน เห็นครอบครัวอื่นทำได้ เป็นแรงผลักดันให้เราฮึดสู้ขึ้นไปอีก
ระยะเวลาสอนจนเด็กเริ่มพูดโต้ตอบกลับเป็นภาษาที่สองอย่างเป็นธรรมชาติ
6 เดือน
ระดับภาษาอังกฤษของพ่อแม่ตอนเริ่มสอนเป็นอย่างไร มีความมั่นใจแค่ไหนในการสอนลูก
แม่ไม่เก่งอังกฤษ เริ่มแรกเลยที่ได้ยินแนวคิดเด็กสองภาษา คิดปฏิเสธตัวเองในใจว่า “ฉันจะทำได้เหรอ ตัวฉันเองยังเอาตัวไม่รอด แล้วจะสอนลูกเป็นเด็กสองภาษาได้อย่างไร” แต่เราก็ตัดสินใจเริ่มทำเลย แล้วหาความรู้เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเอง และ ตั้งเป้าหมาย แรงบันดาลใจสูงสุด คือ ทำเพื่อลูก
เสี้ยวเวลาที่ลูกโต้ตอบกลับมาเป็นภาษาที่สองได้รู้สึกอย่างไร
ดีใจสุดๆ เที่ยวบอกคนรอบข้างว่าลูกตอบรับภาษาที่สองแล้ว เป็นเหมือนกำลังใจที่เยี่ยมยอดให้เราทำต่อ
พัฒนาการในแต่ละช่วง
สองสัปดาห์แรก : ลูกฟังอย่างเดียว มองหน้าเรา งงๆ ไม่โต้ตอบอะไร
สัปดาห์ที่สาม ลูกสามารถพูด Milk ได้เอง โดยไม่ได้พูดนำ
ปลายเดือนแรก และช่วงเดือนแรก พัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ
ยาโยสามารถเข้าใจประโยคง่ายๆ ได้ เช่น
- Put it in the basket, Get some water , Put it back, Go to take a bath
- บางครั้ง ก็พูด Bus , Truck , More please
- ปลายเดือน พูด Take a bath โดยเป็นคนเริ่ม
เดือนที่สอง สามารถทำตามที่เราบอกให้ทำ เช่น
Clap your hands, Wave your hands, Arms up, Give me a kiss, Wweet smile ,… อย่างประโยค เช่น เราถาม Where is…..? , Do you want….? Would you like some…..? Can you ……? ยาโยจะตอบได้เป็นคำแต่ไม่ชัด บางครั้งก็ชี้ถูก
คิดอย่างไรกับการสอน A Ant มด ในโรงเรียน แล้วอยากฝากอะไรถึงโรงเรียนบ้าง
การสอนแบบเดิมเป็นเพียงทฤษฎี ตำรา ไวยากรณ์ ท่องจำ ไม่ได้มาจากความรู้สึกแบบธรรมชาติ รู้เรื่องจำได้เฉพาะช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปก็ลืม …เอามาใช้ในการพูดสื่อสารในชีวิตประจำวันได้น้อยมาก สังเกตจากตัวเองเรียนภาษาอังกฤษตามแบบเดิมมาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 14 ปี แต่สื่อสารไม่ได้ แต่พอมาสอนลูกตามแนวคิดเด็กสองภาษากลับพูดได้มากขึ้นเยอะจนรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวเองในเวลาไม่ถึงปี
โรงเรียนต่างๆ ควรหันกลับไปมองว่าที่ผ่านมา ผลที่ได้เป็นอย่างไร แล้วคิดตามหลักความจริงของการเรียนรู้แบบธรรมชาติดูบ้างว่าผลลัพธ์ต่างกันแบบเห็นได้ชัด
คนรอบข้างมองอย่างไร เมื่อเห็นเราพูดภาษาที่สองกับลูก แล้วเราทำอย่างไร
เมื่อได้ยินเราพูดกับลูก…เหลียวหลังทุกคน ทุกคนสนใจ และมอง…..เราก็ไม่สนใจค่ะ เราพูดกับลูกเรา มองก็มองซิคะ
บางคนก็ถามสงสัยว่าเด็กเป็นลูกครึ่งอะไร… ถามแม่ว่าจบนอกเหรอ… ลูกเรียนนานาชาติเหรอ……..ซึ่งคำตอบที่ต้องตอบจนชินคือ ไม่ใช่ค่ะพ่อแม่ไทยทั้งคู่ค่ะ ลูกยังไม่เข้าโรงเรียนเลยค่ะ แม่ไม่ได้จบนอกค่ะ ใช้หลักพูดกับเด็กในชีวิตประจำวันค่ะ……..ส่วนใหญ่เมื่อเขาทราบคำตอบกัน ก็จะชื่นชม ยินดี แปลกใจ อยากเข้ามาคุยกับเด็กค่ะ
คำแนะนำและความคิดเห็นอื่นๆให้กับพ่อแม่ท่านอื่น
สำหรับครอบครัวไหนที่เพิ่งเริ่มต้น อาจจะยากหน่อยคะ แต่เราต้องก้าวผ่านไปให้ได้….ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆคะ ยิ่งสิ่งที่มีค่ามาก ยิ่งต้องพยายามมาก…..นึกถึงลูก ที่เป็นที่รักของเราค่ะ ถ้าวันนี้เราได้ทำเพื่อเขา เมื่อเขาโตขึ้น เขาจะภูมิใจในตัวเราค่ะ เขาเห็นถึงความพยายามที่พ่อแม่สร้างให้ ทำให้ หรือเพียงเรามองย้อนกลับไปในวันเริ่มต้น กับพัฒนาการของลูกเราที่เห็นในวันนี้ มีเรื่องราว ประสบการณ์มากมายให้เล่าสู่ใครต่อใครหลายๆคนฟังเหมือนอย่างวันนี้……….มันมีความภาคภูมิใจและความสุขปนอยู่ตลอดเส้นทางค่ะ
วิเคราะห์โดยผู้ใหญ่บิ๊ก
คุณกิ้มเป็นหนึ่งตัวอย่างที่เป็น SuperMom เพราะตัวเธอเองต้องทำธุรกิจส่วนตัวอยู่ เลี้ยงลูก และสอนสองภาษา ทั้งที่ภาษาอังกฤษก็คืนครูไปเกือบหมด แต่เธอยังมีความมุ่งมั่นที่จะให้ของขวัญที่ล้ำค่าที่สุดกับลูกอยู่ นั่นก็คือ “ภาษาที่สอง” ดังนั้นแว๊บแรกที่ได้ยินแนวคิดเด็กสองภาษา เธอก็คิดว่าจะสอนได้หรือ แค่ตัวเองก็ยังเอาตัวไม่รอด แต่ท้ายสุดก็ลงมือศึกษาแนวคิดและสอนเลย ใช้ความมุ่งมั่นเป็นการเติมเต็มเป็นระยะ เหมือนแวะเข้าปั๊มแล้วบอกเด็กปั๊มว่า “เต็มถังเลยน้อง”
บล็อกบันทึกเรื่องราวครอบครัวเด็กสองภาษา